ฟ้อนผีมดผีเม็ง

19138 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น :
เดือนที่จัดงาน : พฤษภาคม,มิถุนายน
เวลาทางจันทรคติ : เดือน 6-7
สถานที่
ภาค / จังหวัด : ภาคเหนือ
ประเภท : ประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเพื่อสิริมงคล
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : ฟ้อนผีมด, ฟ้อนผีเม็ง, ประเพณี
ผู้เขียน : ธันวดี สุขประเสริฐ
วันที่เผยแพร่ : 12 ม.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 27 ธ.ค. 2559

ฟ้อนผีมดผีเม็ง

               การฟ้อนผีมดผีเม็ง คือการฟ้อนรำเพื่อเป็นการสังเวย หรือแก้บนผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านทางภาคเหนือนับถือกัน แต่ปัจจุบันได้เลือนหายไปมากแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีปฏิบัติกันอยู่บ้างในชนบทของล้านนาไทย ประเพณีนี้สันนิษฐานว่าเป็นประเพณีมาจากมอญ เพราะสังเกตได้จากการแต่งตัวในเวลาเข้าทรงจะเป็นแบบการแต่งตัวของพวกมอญโบราณ และพวกมอญนี้เองที่คนไทยภาคเหนือเรียกว่าเม็ง การฟ้อนผีมดผีเม็งนี้เป็นการสังเวยบรรพบุรุษ ซึ่งจะจัดอยู่ในวงศาคณาญาติ หรือที่เรียกว่าตระกูลเดียวกัน ในวันครบรอบปี หรือบางครั้งก็รอบ 2-3 ปี แล้วแต่จะสะดวก แต่บางทีพี่น้องหรือญาติกันเกิดมีการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะมีการบนบานสารกล่าว ถ้าหายจากการเจ็บป่วยแล้ว ก็จะทำการแก้บน หรือฟ้อนแก้บนนั่นเอง การฟ้อนผีมดมักทำระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

                การจัดนั้นทางผู้ที่เป็นเจ้าภาพจะทำหน้าที่เลี้ยงดูแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ส่วนมากเป็นญาติและเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน เริ่มต้นด้วยการสร้างปรำ (ทางเหนือเรียกว่าผาม) ไว้กลางลานบ้าน ภายในปรำจะมีเครื่องเซ่นสังเวยต่างๆ เช่น หัวหมู ไก่ต้มสุกทั้งตัว เหล้า ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ขนม ข้าวต้มมะพร้าว ขนมน้ำอ้อย กล้วย อ้อย ใส่ภาชนะวางไว้บนร้านที่ทำคล้ายศาลเพียงตา สูงประมาณ 1 เมตร ในปรำต้องมีราวสำหรับพสดผ้าโสร่ง ผ้าพันหัว ผ้าพาดบ่า สำหรับใส่ทับเวลาฟ้อน  ตรงกลางปรำจะผูกผ้าขาวห้อยไว้ให้ยาวระพื้น

                หญิงชราที่เป็นหัวหน้าของตระกูล นำลูกหลานว่านเครือเข้าไปทำพิธีสักการะบูชาผีบรรพบุรุษ ขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครองลูกหลานให้ได้รับความสุข ทำมาค้าขึ้น จากนั้นจุดธูปเทียนบูชา พิธีดังกล่าวจะต้องทำที่หอผี ซึ่งผู้ที่ถือผีมดต้องปลูกหอผี (ศาล) ไว้แห่งใดแห่งหนึ่งภายในบ้าน มักเป็นทางหัวนอน เมื่อทำพิธีสักการะบูชาบอกกล่าวแล้วมักอัญเชิญผีหรือเรียกกันว่าเจ้าพ่อไปยังปรำพิธี ในการทำพิธีอัญเชิญนี้ก็จะมีที่นั่ง (คนทรง) ไปทำพิธีด้วย เมื่ออัญเชิญเจ้าพ่อไปที่ปรำพิธี จะนำพานดอกไม้ซึ่งเป็นพานสักกระบูชาไปยังปรำพิธี นอกจากนี้ ยังมีการอัญเชิญเจ้าพ่อเข้าทรงคนทรง เมื่อเข้าทรงแล้วเจ้าพ่อจะดื่มของเซ่นไหว้ พร้อมทั้งพูดคุยกับญาติพี่น้อง ลูกหลาน หลังจากจะเชิญเจ้าพ่อออกจากคนทรง จากนั้นจึงมีการฟ้อนผีเป็นการสังเวยเจ้าพ่อ ซึ่งพวกผู้หญิงหรือญาติพี่น้องที่มีอายุมักเป็นผู้ฟ้อนนำขึ้นก่อน

               ผู้ที่จะฟ้อนจะเข้าไปหยิบเครื่องแต่งตัวที่ราวผ้า เปลี่ยนผ้าแล้วไปยังผ้าที่ผูกห้อยไว้กลางปรำ เอามือเคาะและฟุบหน้ากับผ้าผืนนั้น แล้วโยนตัวไปมา สักครู่ก็ออกมาฟ้อนรำไปตามจังหวะกลองที่บรรเลง กลองดังกล่าว ทางเหนือเรียกว่า “เต่งทิ้ง” มีอุปกรณ์คือ กลองสองหน้าขนาดกลาง 1 ใบ กลองขัดจังหวะ 1 ใบ ระนาด ฆ้องวง ปี่ (ทางเหนือเรียกแน) ฉว่า ฉิ่ง และมีฆ้องเล็กสำหรับตีบอกจังหวะ 1 อัน พวกที่จะเข้าไปฟ้อนสังเวยต้องเป็นผู้ที่อยู่ในเครือญาติ ตระกูลเดียวกัน เมื่อเลิกฟ้อนก็เอาผ้าไปไว้ที่เดิม พวกผู้ชายมักฟ้อนดาบ

             ผีมดและผีเม็งนั้นมีวิธีการที่คล้ายคลึงกัน อาจจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดอื่นๆ เช่น บางตำราบอกว่า ผีเม็งจะมีกระบอกปลาร้าเป็นเครื่องสังเวย ชาวบ้านมักจะพูดกันเล่นๆ ติดปากว่า “เมงน้ำฮ้า” หมายถึง พวกมอญชอบปลาร้าและชอบถนอมอาหารด้วยการดองผักต่างๆ ไว้กินนานๆ

              การฟ้อนนอกจากจะเป็นการพิธีรำลึกพระคุณของบรรพบุรุษแล้ว ยังสร้างความสามัคคีกลมเกลียวขึ้นในกลุ่มที่นับถือผีด้วยกัน ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามจารีตที่วางไว้โดยเคร่งครัด เช่น ไม่ยอมให้แต่งงานในกลุ่มผีเดียวกัน เป็นต้น

              การฟ้อนผีของทางเหนือไม่ได้จัดกันทุกครอบครัว จัดเฉพาะแต่พวกที่นับถือผีมดผีเม็งเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่นับถือผีปู่ย่าตายาย ก็จะมีการเซ่นสังเวยด้วยหัวหมู เป็ด ไก่ เหล้า ไม่มีการฟ้อนรำ อย่างไรก็ตาม เป็นการนับถือผีบรรพบุรุษแบบเดียวกัน แตกต่างกันแค่กรรมวิธี


บรรณานุกรม

สงวน โชติสุขรัตน์.(2512).ประเพณีไทยภาคเหนือ. พระนคร : โอเดียนสโตร์.

สุนีย์ ประสงค์บัณฑิต.(2546). ประเพณีสิบสองเดือน : พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป.  กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.