แห่ผ้าขึ้นธาตุ

10094 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : แห่ผ้าห่มธาตุ, แห่ผ้าขึ้นธาตุวันวิสาขบูชา, แห่ผ้าขึ้นธาตุวันมาฆบูชา, ห่มธาตุ, แห่พระบฏขึ้นธาตุ
เดือนที่จัดงาน : กุมภาพันธ์,พฤษภาคม
เวลาทางจันทรคติ : วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ในปีอธิกมาส) และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ในปีอธิกมาส)
สถานที่ : วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ภาค / จังหวัด : ภาคใต้
: นครศรีธรรมราช
ประเภท : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร, พระบรมธาตุ, วันวิสาขบูชา, วันมาฆบูชา, พระบฏ
ผู้เขียน : สุนีย์ ประสงค์บัณฑิต,สุพิชชา นักฆ้อง
วันที่เผยแพร่ : 17 ก.พ. 2559
วันที่อัพเดท : 20 ก.ย. 2560

แห่ผ้าขึ้นธาตุ

คำว่า “แห่ผ้า” คือการนำผ้าที่เย็บเป็นผืนยาวติดต่อกันมาแห่แหน ส่วน “ขึ้นธาตุ” คือ การนำผ้านั้นไปโอบรอบฐานเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วัดพระบรมธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราช ปีละ 2 ครั้ง คือวันมาฆบูชา (วันเพ็ญเดือน 3) และวันวิสาขบูชา (วันเพ็ญเดือน 6) 
         

ผ้าที่นำมาขึ้นธาตุแต่เดิมเรียกว่า พระบท พระบฎ (บ้างเรียกพระบฐหรือพระบต) คือรูปพระพุทธเจ้าที่เขียนหรือพิมพ์บนแผ่นผ้า จิตรกรไทยโบราณมักเขียนภาพพระพุทธเจ้าขึ้นไว้บูชาแทนรูปปฏิมากรรม ภาพพระบฎโบราณมักเขียนเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนบนแท่นดอกบัว มีพระอัครสาวกยืนประนมมือสองข้าง พระบฎรุ่นหลังอาจเขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติแบบเดียวกับจิตรกรรมฝาผนัง
         

ตามตำนานเล่าว่า ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ราว พ.ศ. 1773 สมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุและพระเจ้าพงษาสุระกำลังดำเนินการสมโภชพระธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบใหญ่ผืนยาวผืนหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องพุทธประวัติ เรียกว่า “พระบฎ” ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง ต่อมาความปรากฏว่า พระบฎเป็นของพุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งที่ลงเรือรอนแรมมาจากเมืองอินทรปัตร ซึ่งกล่าวกันว่าอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขง ฝั่งเขมรปัจจุบัน จะนำไปถวายเป็นพุทธบูชาพระเขี้ยวแก้วที่ลังกา แต่เรือโดนมรสุมแตกทำลายลงในทะเลย่านหน้าเมืองนครศรีธรรมราช หัวหน้ากลุ่มพุทธศาสนิกชนกลุ่มนั้นจมน้ำตาย เหลือบริวารรอดชีวิตขึ้นฝั่งได้ราว 100 คน พระบฎจึงถูกซัดขึ้นฝั่งที่ปากพนัง พระศรีธรรมโศกราชจึงโปรดให้แห่แหนพระบฎขึ้นห่มเจดีย์พระธาตุ เมืองนครศรีธรรมราชเป็นพุทธบูชาเสีย ในครั้งสมโภชพระบรมธาตุคราวนั้น เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่องค์กษัตริย์หรือเจ้าเมือง ตลอดจนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินและพืชพันธุ์ธัญญาหาร การแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวนครศรีธรรมราชและกระทำสืบต่อกันมา จนกลายเป็นประเพณี
         

เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้น เมื่อเขียนหรือวาดแถบผ้าเป็นพระบฎแล้วก็นิมนต์พระภิกษุไปสวดพระพุทธมนต์ทำพิธีฉลองสมโภชหนึ่งวัน รุ่งขึ้นพอได้เวลากำหนดซึ่งจะต้องเป็นเวลาก่อนเพลก็จะตั้งขบวนแห่แหนไปพระบรมธาตุ มีเครื่องประโคมแห่แหนเคลื่อนขบวนเป็นทักษิณาวรรตองค์พระเจดีย์สามรอบก่อนแล้วจึงนำขึ้นไปโอบพันพร้อม ๆ กับพระภิกษุสงฆ์ซึ่งนิมนต์ไปรออยู่ ณ พระวิหารตีนพระธาตุ พระสงฆ์จะสวดอภยปริตรและชยปริตร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่หมูคณะผู้ศรัทธา จากนั้นถวายภัตตาหารเพล ปัจจัยและบริขารอื่น ๆ แด่พระภิกษุสงฆ์ด้วยวิธีสลากภัต
         

ปัจจุบันด้วยความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและเวลา ประกอบการหาช่างเขียนพระบฎที่มีฝีมือดีและเขียนด้วยความศรัทธาไม่ค่อยมี พุทธศาสนิกชนจึงตัดพิธีรีตองต่าง ๆ ออกไปหลายอย่าง ดังนั้นทุกวันนี้แห่ผ้าขึ้นธาตุจึงไม่มีสำรับกับข้าวคาวหวาน ไม่มีกระจาดสลากภัตร่วมขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุ ผ้าที่ใช้ก็เป็นผ้าสี่เหลี่ยม เช่น สีขาว สีแดง สีเหลือง (ส่วนมากนิยมสีเหลือง) นำไปแห่แหน ไปกระทำทักษิณาวรรตองค์เจดีย์สามรอบ แล้วนำเข้าสู่พระวิหารมหาภิเนษกรมณ์ที่ชาวบ้านเรียกว่า วิหารม้า (กร่อนมาจากวิหารพระทรงม้า) ทางขึ้นลานภายในกำแพงแก้วล้อมฐานเจดีย์พระบรมธาตุอยู่ในวิหารนี้ เจ้าหน้าที่ของวัดจะยอมให้ผู้อาวุโสในขบวนเพียงสองสามคนเท่านั้นสมทบกับคนงานนำผ้าไปพันโอบองค์พระเจดีย์


ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเกิดขึ้นด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่ปรารถนาถวายผ้าแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยอาศัยเจดีย์พระบรมธาตุเป็นแหล่งรวมศรัทธา การแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชเพียงแห่งเดียวของภาคใต้


บรรณานุกรม

สุนีย์ ประสงค์บัณฑิต. ประเพณีสิบสองเดือน : พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป.  กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546.

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ (วันวิสาขบูชา 2559) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช

พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เป็นพระธาตุประธานของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นพระธาตุสำคัญองค์หนึ่งของไทย เป็นโบราณปูชนียสถานสำคัญ เป็นที่เลื่อมในศรัทธาของชาวพุทธโดยทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ชาวนคร มีประวัติการก่อสร้างมาไม่น้อยกว่า 1,000 ปี เมื่อต้นปี 2559 สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ได้ขุดค้นฐานรากพระบรมธาตุพบหลักฐานเกี่ยวกับประวัติการก่อสร้างที่ทำให้เชื่อได้ว่าพระบรมธาตุองค์นี้น่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 (ข่าวสด 2559 : 16)

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุนั้น เดิมเรียกว่า วัดพระบรมธาตุ เป็นวัดขนาดใหญ่อยู่ภายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชค่อนมาทางทิศใต้ มีถนนราชดำเนินตัดผ่านหน้าวัด น่าจะเป็นถนนที่มีมาแต่โบราณ

ประวัติการก่อสร้างวัดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดนอกจากตำนานมุขปาฐะที่มีหลากหลายสำนวน ย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล เนื้อหาโดยรวมคือเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน บ้านเมืองต่างๆ ในชมพูทวีปได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปเก็บรักษาและสักการบูชา มีเมืองหนึ่งชื่อเมืองทนธบุรี ได้พระทันตธาตุมาเก็บรักษาไว้ ต่อมาเมื่อมีกษัตริย์จากเมืองอื่นยกทัพมาเพื่อขอแบ่งพระทันตธาตุ กษัตริย์สิงหราชเจ้าเมืองทนธบุรีเห็นว่าจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้ จึงให้พระนางเหมชาลาและเจ้าชายทนธกุมารลงเรือหนีไปยังลังกา บังเอิญเรือกำปั่นถูกพายุซัดจนเรือแตก ทั้งสองพระองค์มาขึ้นฝั่งที่หาดทรายแก้ว แล้วฝังพระทันตธาตุไว้ เรื่องราวดำเนินต่อไปจนทั้งสองพระองค์ได้กลับไปเกาะลังกา โดยพระทันตธาตุยังคงถูกฝังไว้ที่เดิม กาลต่อมาพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้มาพบเข้า จึงโปรดให้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นเพื่อไว้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุองค์นี้ และสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นที่หาดทรายแก้ว โดยเชื่อกันว่าเดิมองค์พระบรมธาตุน่าจะเป็นเจดีย์ทรงมณฑปแบบอิทธิพลศิลปะศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ 13-15 มีหลังคาเห็นสถูปห้ายอดคล้ายพระบรมธาตุไชยา ต่อมาพระสถูปทรุดโทรมจึงได้สร้างเจดีย์ทรงลังกาที่เห็นได้ปัจจุบันครอบไว้เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 (ภูวนารถ สังข์เงิน 2552 : 25-26)

ด้วยเหตุจากตำนานนี้ทำให้มีความเชื่อว่า มีพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ใต้พระบรมธาตุนครฯ พระบรมธาตุจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของพระพุทธองค์ ก่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาของชาวพุทธในวงกว้าง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครศรีธรรมราช พลังศรัทธาและความเชื่อดังกล่าวได้สะท้อนผ่านออกมาทางการประพฤติปฏิบัติของชาวพุทธที่กระทำต่อพระบรมธาตุ ทั้งการเข้าสักการะ ทำนุบำรุง การจัดทำวัตถุมงคล และการประกอบพิธีกรรมและประเพณีต่างๆ

ประเพณีของชาวนครที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมธาตุมีอยู่หลายประเพณี ที่สำคัญโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เช่น ประเพณีตักบาตรธูปเทียน ประเพณีสวดด้าน และประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นต้น

 

แห่ผ้าขึ้นธาตุ

การแห่ผ้าขึ้นธาตุ คือ การนำผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันสำคัญทางศาสนา พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธานำเงินที่ได้ไปซื้อผ้ามาเย็บหรือผูกต่อกันเป็นแถวยาวนับพันหลา แล้วพากันแห่ผ้าดังกล่าวไปห่มหรือพันโอบรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ อันเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวแทนของพระพุทธเจ้า อาจจะเริ่มแห่ตั้งแต่ด้านนอกวัดหรือภายในวัดก็ได้ รวมถึงจะแห่ผ้าเวียนรอบพระบรมธาตุหรือไม่ก็ได้เช่นกัน การห่มพระบรมธาตุถือเป็นการได้ถวายผ้า ห่มผ้าพระพุทธองค์ ได้ใกล้ชิดองค์พระศาสดา ผ้าที่ใช้ห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เรียกว่า “ผ้าพระบฏ” (หรือพระบต) (สมพุทธ ธุระเจน และประหยัด เกษม 2559)

 

แห่ผ้าขึ้นธาตุ : ตำนานและประวัติศาสตร์ของประเพณี

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุนี้มีต่อเนื่องมายาวนาน ไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด แต่ตามตำนานกล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย ราว พ.ศ.1773 ในสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังทำพิธีสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ (พระบฏ) ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง เจ้าพนักงานจึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระองค์จึงรับสั่งให้ซักจนสะอาด แต่ลายเขียนพุทธประวัติไม่ลบเลือน ยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่งจะเดินทางไปลังกา เพื่อนำพระบฏไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ คือพระเขี้ยวแก้ว แต่เรือถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนคร รอดชีวิตกัน 10 คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งปากพนัง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ เจ้าของพระบฏที่รอดชีวิตก็ยินดีด้วย จึงโปรดให้ชาวเมืองนครจัดเครื่องประโคมแห่แหนผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ จนเป็นประเพณีประจำเมืองนครสืบมาจนทุกวันนี้ (วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช 2528 : 29 ; วิมล ดำศรี 2557 : 24)

จากตำนานได้ระบุชัดว่าการแห่ผ้าขึ้นธาตุกระทำในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุประจำปี แต่ไม่ได้ระบุแน่นอนว่าจัดขึ้นในวันใด อาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมทุกปีก็เป็นได้ ตามปกติแล้วในอดีตพระยานครและทายาทจะเป็นผู้กระทำประเพณีทุกปี โดยจัดพิธีแห่แหนพระบฏพร้อมด้วยอาหารคาวหวาน เครื่องอุปโภคบริโภคจำเป็นไปถวายพระสงฆ์ที่วัดพระมหาธาตุ โดยหาบคอนกันไปเป็นขบวนสวยงาม ชาวนครก็จะเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ ครั้นเมื่อสิ้นตำแหน่งพระยานครเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ทายาทพระยานครก็ยังคงปฏิบัติประเพณีนี้ต่อเนื่อง จนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ชาวเมืองนครก็ยังจัดประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นประจำทุกปี จำนวนผู้เข้าร่วมก็เพิ่มมากขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน (วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช 2528 : 30 ; วิมล ดำศรี 2557 : 24)

ย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการแห่ “แห่พระบฏขึ้นธาตุ” ในวันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 มีการเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุ พระสงฆ์มาประชุมพร้อมกันเพื่อสวดสมโภชประจำปี มีชาวนครและต่างถิ่นเข้าร่วมงานจำนวนมาก ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้มีการแห่ผ้าขึ้นธาตุเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง คือวันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่อยู่ห่างไกลหรือไม่มีโอกาสกระทำพุทธบูชาในวันวิสาขบูชาได้มีโอกาสแห่ผ้าขึ้นธาตุตามศรัทธา แต่ในวันนี้ไม่มีการสวดสมโภชแต่อย่างใด (วิมล ดำศรี 2557 : 25)

นับแต่นั้นประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของเมืองนครจึงมีปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันเพ็ญเดือน 3 (วันมาฆบูชา) และวันเพ็ญเดือน 6 (วันวิสาขบูชา) สืบมาจนทุกวันนี้

นอกเหนือจากการแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุในวันวิสาขบูชาและวันมาฆบูชาแล้ว ยังกระทำในโอกาสสำคัญอื่น เช่น โอกาสที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินยังวัดพระมหาธาตุ เช่น คราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ.124 หรือ พ.ศ.2448 ทรงเสด็จฯ ยังวัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ทรง “แห่ผ้าห่มพระมหาธาตุ” แต่หาผ้าสีแดงไม่ได้ เนื่องจากซื้อเพื่อทำธงรับเสด็จจนหมดเมือง จึงใช้ผ้าสีชมพูแทน (สมพุทธ ธุระเจน และประหยัด เกษม 2556ก : 158) เช่นเดียวกับคราวพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินยังวัดพระมหาธาตุในงานสมโภช วันที่ 12 กรกฎาคม 2458 ทรงพระราชทานผ้าม้วนสีชมพูห่มพระบรมธาตุ (สมพุทธ ธุระเจน และประหยัด เกษม 2556ข : 33-34)

 

แห่ผ้าขึ้นธาตุ : ความเชื่อ

พุทธศาสนิกชนในอินเดียและลังกามีความเชื่อว่า การทำบุญและการกราบไหว้บูชาที่ให้ได้กุศลจริงจะต้องปฏิบัติต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า และใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด ความเชื่อนี้จึงได้ส่งต่อมายังชาวพุทธในประเทศไทย โดยเมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้วก็ยังมีสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าอยู่ ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุเจดีย์ พระพุทธรูป การกราบไหว้บูชาสิ่งเหล่านี้ เท่ากับเป็นการกราบไหว้บูชาต่อพระพักตร์พระพุทธองค์เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อกันว่า การนำผ้าไปบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ด้วยการโอบรอบองค์ ถือว่าเป็นการบูชาที่สนิทแนบกับพระพุทธองค์ ได้กุศลแรง (วิมล ดำศรี 2557 : 27)

เมื่อถึงวันที่มีประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ พุทธศาสนิกชนในนครศรีธรรมราชและจากทุกสารทิศทั้งในและต่างจังหวัด รวมถึงชาวต่างชาติที่เป็นชาวพุทธ จึงได้มุ่งหมายมาสักการะองค์พระบรมธาตุ พวกที่อยู่ไกลก็จะออกเดินทางล่วงหน้าหลายวัน เตรียมและขนข้าวของเพื่อทำบุญและบริโภคเอง โดยส่วนใหญ่จะมาทางเรือ เมื่อขึ้นจากเรือก็นัดรวมกันตามวัดต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับวัดมหาธาตุ เช่น วัดหน้าพระบรมธาตุ วัดสระเรียง วัดชลเฉนียน (วัดชายคลอง) วัดสวนป่าน วัดหน้าพระลาน วัดพระนคร เป็นต้น (วิมล ดำศรี 2557 : 27)

 

แห่ผ้าขึ้นธาตุ : ขั้นตอนและพิธีกรรม

ผศ.สมพุทธ ธุระเจนและ ผศ.ประหยัด เกษม (2559) ระบุว่า ในทางปฏิบัติของทุกวันนี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันสำคัญถึงจะแห่ผ้าห่มธาตุได้ แต่สามารถนำผ้ามาห่มธาตุได้ทุกวัน ชาวบ้านที่มาจากต่างถิ่นหรือแดนไกล มาไม่ตรงกับวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา หรือวันสมโภชพระธาตุ เมื่อมาสักการะก็จะมาแห่ผ้าได้ เวลาใดก็ได้ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ที่นิยม มีการจัดเป็นประเพณีก็คือในวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา บางส่วนก็เตรียมผ้ากันมาเอง บางส่วนทางวัดก็จัดให้

หลักวิธีปฏิบัติของการแห่ผ้าขึ้นธาตุ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอนหลักด้วยกัน

        1. การเตรียมผ้าห่มพระบรมธาตุ

ผ้าที่นำขึ้นห่มพระธาตุหรือพระบฏ ปัจจุบันนิยมใช้สีขาว เหลือง และแดง พุทธศาสนิกชนคนใดต้องการห่มผ้าพระธาตุ จะเตรียมผ้าขนาดความยาวตามความต้องการของตน แต่ส่วนมากจะนำผ้ามาเย็บหรือผูกต่อกันให้ยาวจนสามารถห่มพระธาตุรอบองค์ได้

จากการสังเกตการณ์ในวันวิสาขบูชา 2559 พบว่าผ้าพระบฏมีทั้งที่เตรียมผ้ากันมาเอง และส่วนใหญ่จะมารับผ้าที่ทางวัดตระเตรียมไว้ให้ เพื่อเป็นการได้ร่วมทำบุญกับทางวัด มีบางส่วนที่ถอดผ้าที่ห่มพระธาตุแล้วออกมาแห่และถวายใหม่ ส่วนมากใช้ผ้าสีเหลือง มีทั้งผ้าผืนยาวและผ้าผืนสั้นแต่เย็บหรือผูกต่อกันจนเป็นผืนยาวพอที่จะห่มพระธาตุได้

การตกแต่งผ้าห่มพระธาตุ บางคนประดิษฐ์ตกแต่งชายขอบผ้าประดับด้วยริบบิ้น ลูกปัด พู่ห้อย แพรพรรณ ลวดลายดอกไม้สวยงาม แต่ผ้าห่มพระธาตุผืนพิเศษจะเขียนหรือพิมพ์ภาพพุทธประวัติทั้งผืนโดยช่างผู้ชำนาญ มีบ้างที่เป็นภาพทศชาติโดยเฉพาะพระเวสสันดร แต่เรื่องราวของพระเวสสันดรนั้นจะไปอยู่ในประเพณีบุญพระเวส (ผะเหวด) เป็นส่วนใหญ่ (สมพุทธ ธุระเจน และประหยัด เกษม 2559) แสดงให้เห็นความถึงความตั้งใจ ความมานะพยายามในการทำผ้าพระบฏขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ แต่ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่นิยมผ้าห่มพระธาตุผืนยาวเรียบ ไม่เขียนลวดลาย

ลวดลายบนพระบฏบางส่วนจึงมีความงดงามมาก เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถเก็บรักษาและใช้ศึกษาได้ ทางพิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราชจึงได้รวบรวมและจัดแสดงเป็นนิทรรศการ

เอกสารบางส่วนระบุว่า ลักษณะของผ้าพระบฏที่นำมาถวายนั้นเปลี่ยนแปลงไป แต่เดิมนั้นมีช่างผู้ชำนาญเขียนภาพพระบฏ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับพุทธประวัติ มีการประดับด้วยลูกปัดสีต่างๆ แพรพรรณและดอกไม้ที่ขอบแถบผ้าโดยตลอดทั้งผืน แต่ปัจจุบันอาจเป็นเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ขาดแคลนช่างผู้ชำนาญ การประดับประดาและเขียนภาพพระบฏจึงหายไป (วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช 2528 : 30-31 ; วิมล ดำศรี 2557 : 26)

ผศ.สมพุทธ ธุระเจนและ ผศ.ประหยัด เกษม (2559) เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่ผ้าพระบฏต้องเป็นสีขาว เหลือง และแดงนั้น เพราะอาจมีความหมายถึง สีขาว – ความบริสุทธิ์, สีเหลือง – ความศรัทธา เป็นสีของจีวรพระ, และสีแดง – ความรัก (ต่อพุทธศาสนา) ในสมัยที่อาจารย์เป็นเด็ก ผ้าพระบฏส่วนใหญ่เป็นสีขาวและเหลือง ไม่นิยมแดง สีแดงน่าจะเป็นความเชื่อที่มาจากภาคกลาง เช่น ที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ หรือที่เขาวัง จ.เพชรบุรี แต่ก็มีบ้างครั้งที่ใช้สีชมพู เช่น ในคราวที่รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เสด็จฯ มาห่มผ้าพระธาตุ ก็ใช้ผ้าสีชมพู (ผ้าพระบฏสีแดงน่าจะมีการใช้มานานแล้ว เนื่องจากพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ทรงระบุว่าที่ทรงใช้ห่มพระธาตุเป็นผ้าสีชมพูเนื่องจากหาผ้าสีแดงไม่ได้ เพราะนำไปใช้ทำธงรับเสด็จหมด - ข้อสังเกตจากผู้เขียน) (ดูรายละเอียดใน สมพุทธ ธุระเจน และประหยัด เกษม 2556ก : 158) 

        2. การจัดขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุและการถวายผ้า

การแห่ผ้าพระธาตุหรือขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุ มาจากหลายทิศทาง มีทั้งที่มาคนเดียว และที่มาเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มใหญ่ สามารถแห่ผ้าเวลาใดก็ได้ตามสะดวก จะแห่มาจากภายนอกวัดหรือเริ่มแห่จากในวัดก็ได้ ตลอดทั้งวันจึงมีขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุโดยมิได้ขาด บางส่วนเดินเป็นขบวนกันมาโดยมีดนตรีนำหน้าขบวน

วิธีการถวายผ้าพระบฏ เมื่อขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุถึงวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารแล้ว จะทำพิธีถวายผ้าพระบฏเพื่อเป็นพุทธบูชา โดยมีหัวหน้าคณะกล่าวนำผู้ร่วมขบวนว่าตามพร้อมกัน บทสวดถวายผ้าก็อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละพิธีการ (สมพุทธ ธุระเจน และประหยัด เกษม 2559)

หลังจากทุกคนกล่าวคำถวายผ้าพระบฏเรียบร้อยแล้ว จะแห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ 3 รอบ แต่ ผศ.สมพุทธ และ ผศ.ประหยัด (2559) กล่าวว่า การแห่ผ้าจะเดินเวียนรอบพระธาตุหรือไม่ก็ได้ หรือจะเดินเวียนกี่รอบก็ได้ หรือจะเดินเวียนรอบนอกกำแพงแก้วหรือรอบพระธาตุก็ได้ แต่โดยหลักแล้วควรเดินเวียนรอบกำแพงแก้ว 3 รอบ

ที่มาเป็นกลุ่มใหญ่ ผู้แห่จะยืนแถวเรียงเป็นริ้วขบวนยาวไปตามความยาวของผืนผ้า ทุกคนจะทูนชูผ้าพระบฏไว้เหนือศีรษะ ทั้งนี้เพราะเชื่อกันว่าผ้าพระบฏเป็นของสูง เป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้า จึงควรแก่การบูชา จะถือไว้ในระดับต่ำกว่าศีรษะไม่ได้

          3. การนำผ้าขึ้นห่มพระธาตุ

โดยหลักแล้ว หลังจากเดินเวียนทักษิณาวัตรรอบพระบรมธาตุแล้ว ก็จะนำผ้าเข้าสู่วิหารพระทรงม้า (พระวิหารมหาภิเนษกรมณ์) ที่อยู่ทางทิศเหนือของพระบรมธาตุ ซึ่งมีบันไดขึ้นสู่ลานภายในกำแพงแก้วล้อมฐานพระบรมธาตุเจดีย์ ตอนนี้ผู้ที่ร่วมในขบวนแห่จะส่งผู้แทนเพียง 3-4 คน สมทบกับเจ้าหน้าที่ของวัดนำผ้าพระบฏขึ้นโอบรอบพระบรมธาตุเจดีย์ ที่ไม่สามารถขึ้นไปบนกำแพงแก้วได้หมดทั้งขบวนเพราะทางวัดได้กำหนดให้ลานภายในกำแพงแก้วเป็นเขตหวงห้าม ยกเว้นการนำผ้าพระบฏขึ้นบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพราะเชื่อกันว่าใต้ลานกำแพงแก้วในฐานพระบรมธาตุเจดีย์มีพระบรมสาริกธาตุประดิษฐานอยู่ หากขึ้นไปเดินบนลานจะไม่เป็นการสมควร

ในคราวที่รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ ห่มผ้าพระธาตุนั้น เจ้าพนักงานได้นำผ้าไปห่มถึงส่วนเหนือองค์ระฆัง บริเวณหน้ากระดานของบัลลังก์พระมหาธาตุ (สมพุทธ ธุระเจน และประหยัด เกษม 2556ข : 34)

จากการสังเกตการณ์ในวันวิสาขบูชา 2559 พบว่า การห่มผ้าพระธาตุของชาวบ้านนั้น จะห่มที่ฐานล่างของพระมหาธาตุ ภายในวิหารทับเกษตร และที่เจดีย์รายรอบพระมหาธาตุ ไม่ได้เข้าสู่วิหารทรงม้าและลานกำแพงแก้ว และมีบางส่วนที่แห่ผ้าเวียนรอบพระธาตุก่อนแล้วจึงสวดถวายก่อนที่จะห่มรอบพระธาตุต่อไป

ผศ.สมพุทธ และ ผศ.ประหยัด (2559) ให้เหตุผลว่า เนื่องจากพุทธศาสนิกชนมีเป็นจำนวนมาก ผ้าพระบฏมีจำนวนมาก แต่สถานที่คับแคบ ผู้มีจิตศรัทธาทุกคนและผ้าทุกผืนจึงไม่สามารถขึ้นไปบนลานกำแพงแก้วได้ทั้งหมด ก่อนหน้านี้มีช่วงหนึ่งที่ทางวัดอนุญาตให้พุทธศาสนิกชนขึ้นไปผูกผ้าได้บนลานกำแพงแก้ว และมีอยู่ปีหนึ่งที่มีการโยนผ้าทุกผืนจากลานทรายขึ้นไปบนลานกำแพงแก้วเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผูก แต่วุ่นวายมากจึงเลิกไป

 

แห่ผ้าขึ้นธาตุ : สู่ความเป็นขนบและประเพณีนานาชาติ

ผศ.สมพุทธ และ ผศ.ประหยัด (2559) ให้ข้อมูลว่า การแห่ผ้าขึ้นธาตุแต่เดิมอาจเป็นเพียงวิถีปฏิบัติ ยังไม่เป็นขนบที่มีรูปแบบ ชาวบ้านเดินทางมาสักการะพระมหาธาตุเมื่อใดก็จะแห่ผ้าห่มธาตุได้ ไม่ได้กำหนดวันและเวลาตายตัว แต่ก็จะมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมามากในวันสำคัญทางศาสนา โดยเฉพาะวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา แต่ในวันก่อนหน้าวันแห่จะต้องมีพิธีสมโภช ทำของถวายให้บริสุทธิ์

อาจกล่าวได้ว่า การท่องเที่ยวได้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างขนบขึ้นมาในการแห่ผ้าขึ้นพระธาตุซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวนคร มีการกำหนดขั้นตอน ระบบระเบียบ และมีกำหนดการที่ชัดเจน โดยเริ่มมีการเตรียมการเมื่อราว พ.ศ.2521 และชัดเจนขึ้นใน พ.ศ.2524 เพื่อให้เหมาะสมต่อการเยี่ยมเยือน เข้าร่วมงาน และเข้าร่วมสักการะของคนต่างถิ่นที่จะต้องเดินทางมาไกล ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและช่วยอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของชาวนคร รวมถึงชื่องาน “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” ก็ได้มีมติร่วมกันว่าใช้ชื่อนี้ เมื่อก่อนอาจเรียกกันต่างออกไป เช่น แห่ผ้าห่มธาตุ ห่มพระธาตุ ฯลฯ (สมพุทธ ธุระเจน และประหยัด เกษม 2559)

จนในปี 2553 นายสุเทพ เกื้อสังข์ ผอ.ททท.นครศรีธรรมราชในขณะนั้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับงานประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุเมืองนคร ขึ้นเป็นงานประเพณีในระดับนานาชาติ เชิญประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย 11 ประเทศ รวมทั้งเมือง 12 นักษัตรเมืองบริวารเมืองนครในอดีตและจาก 4 ภูมิภาคของประเทศมาร่วมงาน ชาติต่างๆ ได้นำผ้าพระบฏมาเข้าร่วมงาน เข้าร่วมขบวนแห่ผ้าเพื่อถวายพระบรมธาตุ หลังจากนั้นจึงมีการจัดประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ งานผ้าพระบฏนานาชาติ นับแต่นั้นเป็นต้นมา และทำให้การจัดประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุวันมาฆบูชา เป็นงานใหญ่และเอิกเกริกกว่าวันวิสาขบูชา

ผศ.สมพุทธ และ ผศ.ประหยัด (2559) กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกจัดงานนานาชาติในวันมาฆบูชาจนทำให้ดูเหมือนว่างานในวันมาฆบูชายิ่งใหญ่กว่าวันวิสาขบูชานั้น สาเหตุอาจมาจาก ช่วงวันวิสาขบูชามักฝนตก ไม่เหมาะกับการจัดงานใหญ่ หรืออาจเป็นเพราะวันมาฆบูชาเป็นวันของพระธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงการให้ชาวพุทธให้ความสำคัญกับพระธรรมของพระองค์มากกว่าตัวพระองค์เอง (วันวิสาขบูชา) และก็นับเป็นการดีประการหนึ่ง เนื่องจากงานในวันมาฆบูชาเป็นงานที่ค่อนข้างเอิกเกริก ส่วนงานวันวิสาขบูชาจะสงบเงียบกว่า เหมาะกับการสวดมนต์บูชาพระพุทธองค์ 

 

ผ้าพระบฏพระราชทาน

ในปี 2530 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ชาวนครศรีธรรมราชจึงพร้อมใจกันขอผ้าพระบฏพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อนำมาถวายเป็นพุทธบูชาในประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี 2530 นับเป็นผ้าพระบฏผืนแรกของชาวนคร ต่อมาชาวนครก็ได้เพียรพยายามใช้มหาวโรกาสต่างๆ ขอพระราชทานผ้าพระบฏ จนถึงขณะนี้ทั้ง พระบรมวงศ์ทั้ง 5 พระองค์ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานผ้าพระบฏเข้าร่วมงานแห่ผ้าขึ้นธาตุ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประจำทุกปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานผ้าพระบฏเมื่อ พ.ศ.2556 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระราชทานผ้าพระบฏเมื่อ พ.ศ.2555 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานผ้าพระบฏเมื่อ พ.ศ.2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานผ้าพระบฏเมื่อ พ.ศ.2530 และพระราชทานผืนใหม่เมื่อ พ.ศ.2549 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานผ้าพระบฏเมื่อ พ.ศ.2557

ก่อนการแห่ผ้าขึ้นธาตุ 1 วัน จะมีการสมโภชผ้าพระบฏพระราชทาน ที่สวนสาธารณะศรีธรรมโศกราช อำเภอปากพนัง เนื่องจากเกี่ยวพันกับตำนานกำเนิดผ้าพระบฏและประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุที่นครศรีธรรมราช คือเชื่อกันว่าผ้าพระบฏผืนแรกถูกพัดมาเกยฝั่งที่ปากพนัง (ดูรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับผ้าพระบฏพระราชทานได้ใน วิมล ดำศรี 2557)

นับแต่มีผ้าพระบฏพระราชทาน การจัดงานแห่ผ้าขึ้นธาตุทุกครั้ง (ปีละ 2 ครั้ง) ทางจังหวัดและฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันจัดขบวนแห่ผ้าพระบฏพระราชทาน โดยในวันมาฆบูชาจะจัดขบวนแห่ร่วมกับผ้าพระบฏนานาชาติ แห่ผ้าพระบฏพระราชทานมาจากสนามหน้าเมือง ที่อยู่ห่างจากวัดไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร ขบวนจะเริ่มเดินออกจากสนามหน้าเมืองมายังวัดพระมหาธาตุประมาณ 15.00 น.

 

แห่ผ้าพระบฏพระราชทาน วันวิสาขบูชา 2559

จากการเข้าร่วมประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันวิสาขบูชา วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2559 ซึ่งชาวนครถือว่าเป็นการจัดงานปีที่ 786 (นับจาก พ.ศ.1773 ที่ตำนานระบุว่าเป็นปีที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชพบพระบฏและนำมาห่มถวายพระบรมธาตุ) นั้น พบว่าผู้เข้าร่วมขบวนแห่ผ้าพระราชทานที่มีทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานในพิธี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด ข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ ผู้บริหาร อาจารย์ และนักเรียนนักศึกษาจากสถานศึกษาต่างๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมเตรียมตัวกันในศาลา 100 ปี พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) ที่อยู่ในพื้นที่ด้านทิศเหนือของพระธาตุ ห่างออกไปประมาณ 200 เมตร ตั้งแต่ช่วงบ่าย จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.30 น. จึงได้เริ่มตั้งแถวขบวนบนถนนราชดำเนิน ข้างศาลา 100 ปี ปากซอยสระเรียง นำโดยวงดุริยางค์นักเรียน ป้ายขบวนพระบฏพระราชทาน ตามด้วยพระบรมฉายาลักษณ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่กำลังอัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทาน ขบวนต้นไม้เงินต้นไม้ทอง คณะนักเรียนมัธยมและนักศึกษาพยาบาล 

หลังจากนั้น ขบวนผ้าพระบฏพระราชทานได้เดินตามถนนราชดำเนินมาทางทิศใต้ประมาณ 250 เมตร เข้าสู่เขตพุทธาวาสของวัดที่ประตูเยาวราช ทางทิศตะวันออกของพระมหาธาตุ เข้าสู่ซุ้มปะรำพิธี ที่ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วด้านทิศเหนือของพระมหาธาตุ หลังจากประธานในพิธีกล่าวรายงาน มีการแสดงมโนราห์คำร้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมวงศ์ พระมหาธาตุ การปฏิบัติตนของชาวพุทธ หลังจากนั้นเริ่มประกอบพิธีและพิธีสงฆ์โดยพระสงฆ์ 10 รูป ประธานในพิธีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มอบพระบฏพระราชทานทั้ง 5 ผืนแก่ผู้แทนจาก 5 หน่วย เพื่ออัญเชิญเข้าไปถวายภายในวิหารพระทรงม้า บริเวณเชิงบันไดทางขึ้นสู่ลานกำแพงแก้ว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่วัดทำการปิดวิหาร ไม่ให้ผู้ใดเข้า เป็นอันเสร็จพิธีเวลาประมาณ 17.30 น. ประธานในพิธี ข้าราชการ และประชาชน รอประกอบพิธีเวียนในตอนหัวค่ำ

 

ขอขอบพระคุณ

ผศ.สมพุทธ ธุระเจน ผศ.ประหยัด เกษม และพิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช

 


บรรณานุกรม

ข่าวสด. (18 มกราคม 2559). “หลักฐานใหม่ชี้อายุพระธาตุนครฯ.” ข่าวสด 25, 9182 : หน้า 16.

ภูวนารถ สังข์เงิน. (2552). “การจัดการทรัพยากรทางโบราณคดีภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในระหว่างปี พ.ศ. 2549-2552.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช. (2528). ประเพณีสำคัญของชาวนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช : ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช.

วิมล ดำศรี, รศ. (2557). ผ้าพระบฏพระราชทาน : ปัจจัยและสื่อส่งเสริมสืบสานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเมืองนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช : ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช.

สมพุทธ ธุระเจน, ผศ. และ ผศ.ประหยัด เกษม (บรรณาธิการ). (2556ก). จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินหัวเมืองปักษ์ใต้ . นครศรีธรรมราช : โครงการศึกษาสืบค้นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช.

สมพุทธ ธุระเจน, ผศ. และ ผศ.ประหยัด เกษม (บรรณาธิการ). (2556ข). จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ เฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช (พุทธศักราช 2458) . นครศรีธรรมราช : โครงการศึกษาสืบค้นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช.

สมพุทธ ธุระเจน, ผศ. และ ผศ.ประหยัด เกษม. (18 พฤษภาคม 2559). สัมภาษณ์. พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช.