บุญคูณลาน

17746 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น :
เดือนที่จัดงาน : มกราคม
เวลาทางจันทรคติ : เดือนยี่
สถานที่
ภาค / จังหวัด : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเภท : ประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากิน,ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : ข้าว, ทำขวัญข้าว
ผู้เขียน : ธันวดี สุขประเสริฐ
วันที่เผยแพร่ : 1 ส.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 1 ส.ค. 2559

บุญคูณลาน

บุญคูณลาน เป็นการทำบุญเพื่อรับขวัญข้าว ความหมายของคำว่า "คูณลาน" หมายความว่าเพิ่มเข้า หรือทำให้มากขึ้นส่วนคำว่า "ลาน" คือสถานที่สำหรับนวดข้าว การนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า "คูณลาน"  ประเพณีบุญคูณลานกำหนดทำในเดือนยี่ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญเดือนยี่ ดังบรรพบุรุษได้ผูกกลอนสอนให้ชาวบ้านเตรียมการก่อนทำบุญไว้ว่า


                              "เถิงฤดูเดือนยี่มาฮอดแล้ว
                               ให้นิมนต์พระสงฆ์องค์เจ้ามาตั้งสวดมงคล
                               เอาบุญคูณข้าวเข้าป่าหาไม้เห็ดหลัว
                               อย่าได้หลงลืมทิ่มฮีตเก่าคองเดิมเฮาเด้อ"


หมายความว่า เมื่อถึงฤดูเดือนยี่มาถึงให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมงคลทำบุญคูณข้าว ให้จัดหาไม้มาไว้ทำฟืนสำหรับใช้ในการหุงต้มประกอบอาหาร อย่าได้หลงลืมประเพณีเก่าแก่แต่เดิมมาของเรา ดังนั้น ก่อนจะทำบุญคูณลานชาวอีสานมีประเพณีหนึ่งที่เรียกว่า ไปเอาหลัว คือชาวบ้านทุกบ้านจะต้องเอาหลัวเอาฟืน ชาวอีสานเชื่อว่าในสมัยโบราณต้องใช้ถ่านและฟืนหุงต้มอาหารเป็นประจำ เพื่อไม่ให้ลำบากในการหาฟืนเป็นคราว ๆ ไป จึงให้ถือเอาวันหนึ่งในเดือนยี่ซึ่งเป็นเดือนที่เสร็จจากเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้ว เข้าป่าไปเก็บหลัวเก็บฟืนไว้ใช้ตลอดปี หลัวหมายถึงไม้ไผ่ที่ตายแล้วเอามาทำเป็นฟืน ส่วนฟืนหมายถึงแก่นไม้ทุกชนิดนำมาเผาถ่านได้ หลังจากชาวบ้านเตรียมหลัวเตรียมฟืนเรียบร้อยแล้วก็จะมากำหนดเอาวันใดวันหนึ่งสำหรับทำบุญคูณลานหรือเรียกอีกอย่างว่าทำบุญขวัญข้าว

บุญคูณลานเป็นการทำบุญขวัญข้าวที่นวดเสร็จและกองไว้แล้วในลานข้าว ที่มาที่ไปของการทำเช่นนี้ เนื่องจากผู้ใดทำนาได้มาก ๆ ก่อนจะหาบหรือขนมาใส่ยุ้งฉาง ก็จะทำบุญกุศลเพื่อเป็นการเพิ่มความมั่งมีศรีสุขสืบไป โดยถือเอาเรื่องเล่าในพระธรรมบทเป็นมูลเหตุว่า ครั้งศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชายสองคนพี่น้องทำนาในที่เดียวกัน เวลาข้าวเป็นน้ำนม น้องชายจะชวนพี่ทำข้าวมธุปยาสถวายแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แต่ผู้เป็นพี่ตอบปฏิเสธ จึงตกลงกันว่าจะแบ่งที่นากันคนละส่วน ครั้นน้องชายได้เป็นเจ้าของที่นาในส่วนที่แบ่งแล้ว จึงถวายทานตามความพอใจนับได้ 9 ครั้ง คือ เวลาข้าวเป็นน้ำนมมธุปยาส คือยาคูกวนถวาย 1 เวลาข้าวพอเม่าถวาย 1 เวลากองในลาน 1 เวลาทำลอม 1 เวลาเก็บยุ้งฉาง 1 แล้วตั้งปณิธานความปรารถนาว่าขอให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอนาคต ครั้นถึงศาสนาของพระพุทธโคดม น้องชายได้เกิดมาเป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล มีนามว่าอัญญาโกณฑัญญะ ออกบวชแล้วสำเร็จพระอรหันต์ก่อนสาวกทั้งหลายและเป็นปฐมสาวกองค์แรก

ส่วนพี่ชายไม่สามารถถวายทานครบ 9 ครั้ง ได้ถวายเพียงครั้งเดียวคือในเวลาทำนาเสร็จได้ตั้งปณิธานความปรารถนาขอให้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลในอนาคต ครั้นมาถึงสมัยพระพุทธโคดม ได้บังเกิดเป็นสภัททปริพาชก เมื่อปัจฉิมโพธิกาลใกล้พระศาสดาจะเสด็จสู่ปรินิพพาน ได้เข้าไปทูลความสงสัย เมื่อจบเทศนาพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแล้ว จึงตั้งอยู่ในอนาคามิผลเป็นอริยบุคคลองค์สุดท้ายในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะอานิสงส์แห่งการให้ข้าวน้อยกว่าน้องชาย ชาวนาทั้งหลายเมื่อได้ทราบอานิสงส์เช่นนี้ จึงนิยมทำบุญให้ทานข้าวในนา ถือเป็นประเพณีของชาวอีสานสืบมา

การทำบุญคูณลานของชาวบ้านจะทำไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับการเก็บเกี่ยวข้าวว่าจะเสร็จเมื่อใด วันที่จะขนข้าวขึ้นยุ้งฉางจะเป็นวันทำบุญคูณลานโดยจะทำที่นา แต่ก่อนที่จะทำการนวดข้าวนั้นให้ทำพิธีย้ายแม่ธรณีออกจากลานเสียก่อน และบอกกล่าวแม่โพสพ อุปกรณ์ที่จะต้องเตรียมดังนี้ 1. ใบคูณ ใบยอ อย่างละ 7 ใบ  2. เขาควายหรือเขาวัว 1 คู่  3. ไข่ 1 ฟอง  4. มัน 1 หัว  5. เผือก 1 หัว 6. ยาสูบ 4 มวน 7. หมาก 4 คำ 8. ข้าวต้ม 1 มัด 9. น้ำ 1 ขัน 10. ขัน 5 ดอกไม้ ธูปเทียน

เมื่อพร้อมแล้วก็บรรจุลงในก่องข้าว (กระติ๊บข้าว) ยกเว้นน้ำและเขาควาย ซึ่งเรียกว่า "ขวัญข้าว" เพื่อเตรียมเชิญแม่ธรณีออกจากลานและบอกกล่าวแม่โพสพ นำก่องข้าว เขาควาย ไม้นวดข้าว 1 คู่ ไม้สน 1 อัน คันหลาว 1 อัน มัดข้าว 1 มัด ขัดตาแหลว 1 อัน (ตาแหลว เป็นอุปกรณ์ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้คาถากุ้มข้าวใหญ่ของลานอื่นดูดไป) นำไปวางไว้ที่หน้าลอมข้าว (กองข้าว) เสร็จแล้วเจ้าของนาก็ตั้งอธิษฐานว่า "ขอเชิญแม่ธรณีได้ย้ายออกจากลานข้าว และแม่โพสพอย่าตกอกตกใจไปลูกหลานจะนวดข้าวจะเหยียบย่ำอย่าได้โกรธเคืองหรืออย่าให้บาป" อธิษฐานแล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอม (กองข้าว) ออกมานวดก่อนแล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าวมัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง เอาตาแหลวผูกติดมัดข้าวที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกเข้าไปด้วย แล้วนำไปปักไว้ที่ลอมข้าวเป็นอันว่าเสร็จพิธี ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย เมื่อนวดเสร็จก็ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ข้าว โดยเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และตาแหลวไปปักไว้ข้างกองข้าวทั้ง 4 มุม นำตาแหลวและขวัญข้าวไปวางไว้ยอดกองข้าว พันด้วยด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวแล้วโยงมายังพระพุทธรูป 

เมื่อกำหนดวันทำบุญคูณลานได้แล้วก็จะบอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญตอนเย็นในวันรวม นิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 5 รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ที่ลานข้าว จัดโต๊ะหมู่บูชาพร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน แล้วขึงสายสิญจน์รอบกองข้าวต่อมายังพระพุทธรูป ญาติโยมทั้งหลายมารวมกันฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อเจริญพระพุทธมนต์เสร็จมีเทศน์ 1 กัณฑ์ กลางคืนมีมหรสพ เช่น หมอลำกลอน หมอลำหมู่ หรือกลองยาว ตลอดจนการละเล่นของหนุ่มๆ สาวๆ งานจะมีตลอดรุ่งถึงสว่าง เมื่อสว่างแล้วจะถวายอาหารบิณฑบาต เสร็จแล้วพระสงฆ์จะประพรมน้ำพระพุทธมนต์ น้ำมนต์นี้เจ้าของนาจะนำไปรดนา เพราะชื่อว่าถ้ารดน้ำมนต์ในนาแล้วปีต่อไปข้าวกล้าในนาจะเจริญงอกงามดี ไม่มีนกหนูปูปลามากัดกิน ถ้ารดโคกระบือ โคกระบือก็จะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีโรคมีภัย เสร็จแล้วก็อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติใตรที่ตายแล้ว ตลอดจนเทพยดาทั้งหลาย เมื่อท่านเหล่านี้ได้รับส่วนบุญที่อุทิศไปให้แล้ว ก็จะอวยชัยอวยพรให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวในนาจะได้เจริญงอกงามต่อไป

หลังจากทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ชาวบ้านบางหมู่บ้านจะถือโอกาสสู่ขวัญเล้า (ยุ้งฉาง) เมื่อขนข้าวออกจากลานนามาใส่ยุ้งเรียบร้อยแล้ว ประเพณีการสู่ขวัญเล้านี้ทำกันขึ้นง่าย ๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากนัก เมื่อเจ้าของยุ้งกำหนดพิธีสู่ขวัญแล้ว ก็จะจัดพานบายศรีสู่ขวัญประกอบด้วย ดอกไม้ธูปเทียน อาหารคาวหวาน จากนั้นเชิญชายผู้สูงอายุที่รู้คำอวยชัยในการนี้มาอ่านคำประกาศอวยชัยให้พร มีลักษณะอาการคล้ายพิธีบายศรีสู่ขวัญอื่น ๆ ผิดกันก็แต่เพียงคำอวยพรเท่านั้น เสร็จพิธีสู่ขวัญเล้าแล้ว ชาวบ้านก็จัดเลี้ยงอาหารซึ่งกันและกัน และบุญคูณลานก็สิ้นสุด จะเริ่มใหม่อีกในปีต่อไป

ปัจจุบัน บุญคูณลานค่อย ๆ เลือนหายไป เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนใจปฏิบัติกัน ประกอบกับทุกวันนี้ชาวนาไม่มีลานนวดข้าวเหมือนเมื่อก่อน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ และมัดข้าวเป็นฟ่อน ๆ แล้วขนมารวมกันไว้บริเวณนา โดยไม่มีลานนวดข้าว หลังจากนั้นก็ใช้เครื่องสีข้าวสีเมล็ดข้าวเปลือกออกจากฟางลงใส่ในกระสอบ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางหมู่บ้านที่ยังรวมกันทำบุญโดยนำข้าวเปลือกมากองรวมกัน เรียก "กุ้มข้าวใหญ่" ซึ่งจะเรียกว่าบุญกุ้มข้าวใหญ่ แทนการทำบุญคูณลาน 
 


บรรณานุกรม

สุนีย์ ประสงค์บัณฑิต. ประเพณีสิบสองเดือน : พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป.  กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546.

http://www.prapayneethai.com/การสู่ขวัญข้าว-ประเพณีบุญคูณลาน

http://www.lib.ubu.ac.th/html/report/ubontraditional/koonlan-2.htm