กินข้าวห่อ

20144 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : อั้งมี่ถ่อง,ไค่จุ้งหล่าค่อก,สู่ขวัญเดือนเก้า,เรียกขวัญ
เดือนที่จัดงาน : สิงหาคม
เวลาทางจันทรคติ : เดือนเก้าตามจันทรคติ
สถานที่ : บ้านห้วยเกษม(ห้วยแห้ง) ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี
: บ้านโป่งกระทิงบน กิ่งอ.บ้านคา จ.ราชบุรี
: บ้านยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี.
ภาค / จังหวัด : ภาคตะวันตก
: ราชบุรี
: เพชรบุรี
ประเภท : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์,ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง : แห่เสาทะเดิ่งบุ่ง,เวียนศาลา เดือน 5
คำสำคัญ : กะเหรี่ยง,กินข้าวห่อ,เรียกขวัญ
ผู้เขียน : ดำรงพล อินทร์จันทร์,ปณิตา สระวาสี
วันที่เผยแพร่ : 11 ม.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 15 ธ.ค. 2564

กินข้าวห่อ สู่ขวัญเดือนเก้า

             ประเพณีกินข้าวห่อ เป็นประเพณีของชาวกะเหรี่ยงโปว์ หรือโพล่ง จัดขึ้นในช่วงเดือน 9 ของทุกปี  คืออยู่ในราวเดือนสิงหาคมจนถึงกันยายน ส่วนใหญ่ชาวกะเหรี่ยงในแถบภูมิภาคตะวันตกในเขตราชบุรี  เพชรบุรี จะทยอยจัดงานประเพณีกินข้าวห่อเวียนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ตลอดทั้งเดือน

             ในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “อั้งมี่ถ่อง” อั้งแปลว่า กิน มี่ถ่องแปลว่า ข้าวห่อ อั้งมี่ถ่องแปลว่ากินข้าวห่อ  อย่างก็ดีในอดีตชาวกะเหรี่ยงจะเรียกประเพณีนี้ว่า “ไค่จุ้งหล่าค่อก”  ไค่จุ้งแปลว่าผูกแขนหรือผูกข้อมือ  หล่าแปลว่าเดือนหรือขวัญ ค่อกแปลว่าเลขเก้า  ซึ่งโดยรวมมีความหมายว่า “พิธีสู่ขวัญเดือนเก้า” การผูกแขนหรือผูกข้อมือ เปรียบเสมือนการผูกขวัญหรือเรียกขวัญนั่นเอง

              ประเพณีอั้งมีถ่อง หรือ ประเพณีกินข้าวห่อ ใช้เวลาประกอบพิธีราว 2-3 วัน  โดย 2 วันแรก(วันก่อนกินข้าวห่อ) เป็นการเตรียมทำข้าวห่อ เตรียมวัตถุดิบได้แก่ ข้าวเหนียว ใบตอง ใบฝาก มะพร้าว น้ำตาล น้ำผึ้ง ตอกไม้ไผ่ โดยลูกหลานจะช่วยกันห่อข้าวเหนียวด้วยใบตองหรือใบผาก(ใบไผ่ชนิดหนึ่ง) แล้วมัดแน่นด้วยเส้นตอกที่ทำจากไม้ไผ่ 

               เฉพาะข้าวห่อที่จะใช้ทำพิธีนั้นจะทำเป็นพิเศษ ด้วยการนำไม้ไผ่ท่อนเดียวมาซอยซี่เป็นเส้นตอก แล้วมัดใบตองที่ห่อข้าวเหนียวไว้เป็นพวงเดียวกัน นำไปต้มให้สุกให้กระทะหรือปี๊บ  ส่วนน้ำจิ้มเตรียมด้วยการนำมะพร้าวขูดใส่น้ำตาลหรือน้ำผึ้ง เคี่ยวกวนเป็นหน้ากระฉีก สำหรับใช้จิ้มกับข้าวเหนียวที่ห่อรับประทานเป็นคำๆ
ในตอนพลบค่ำหนึ่งวันก่อนพิธี ทุกครัวเรือนจะฟังเสียงปืนจากบ้านกำนันหรือผู้นำชุมชน  เมื่อเสียงปืนดังขึ้น แต่ละบ้านจะขานรับด้วยการเคาะปี๊บ ตีกลอง เขย่ากระดิ่งวัว จุดประทัดหรือยิงปืน เกิดเสียงดังไปทั้งหมู่บ้าน

               จากนั้นจะทำพิธีเรียกขวัญและผูกขวัญ ซึ่งจะทำ 2 ครั้งคือเรียกขวัญในตอนเย็นก่อนกินข้าวห่อ 1 ครั้ง และตอนเช้าก่อนทำพิธีกินข้าวห่อ 1 ครั้ง โดยผู้ทำพิธีคือ แม่เฒ่าที่เป็นผู้อาวุโสของบ้านที่เป็นผู้หญิง  พร้อมกระบุงบรรจุข้าวห่อ ดอกไม้(ดอกเข็มหรือดอกดาวเรือง) ด้ายแดง และของบูชาอื่นๆ จำพวกกล้วยสุก อ้อย โดยจะนำกระบุงมาตั้งที่หัวบันไดแล้วใช้ทัพพีเคาะหัวบันไดเป็นจังหวะพร้อมกล่าวคำเรียกขวัญ มีความหมายทำนองชักชวนขวัญที่กระเจิงไปตามที่ต่างๆ ให้กลับมา ซึ่งมักจะมีข้อความที่มีความหมายคล้ายกันทุกๆ บ้าน ดังนี้

               “ขวัญเอย ขวัญอยู่ในดงมา อยู่ในป่ามา อยู่กับผีมา อยู่กับสางมา ขวัญจงอย่าไปอยู่กับผีสาง ไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่พวก ไม่ใช่ฝูงเรา ขวัญอยู่ในดงมา อยู่ในห้วยมา อยู่ในหนองมา อยู่ในทุ่งมา มาอยู่กับพ่อแม่ มาอยู่กับลูกกับเมีย(ผัว) มาผูกแขนมากินข้าวห่อ อย่าได้ไปเที่ยวจนไกล”
สิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในพิธีสู่ขวัญ ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น กล่าวคือ ดอกเข็มแทนรากเหง้าและอุดมการณ์ของชาวกะเหรี่ยง กล้วยสุกแทนความรักและการขยายเผ่าพันธุ์ อ้อยแทนการสืบทอดที่ไม่มีวันสิ้นสุด ข้าวห่อแทนความสามัคคีกลมเกลียว ด้ายแดงแทนความดีและความบริสุทธิ์ใจ

                อย่างไรก็ดีพิธีเรียกขวัญจะประกอบพิธีอีกครั้งในตอนเช้ามือของวันรุ่งขึ้น โดยแม่เฒ่าจะเคาะหัวบันไดบ้านและกรอบประตู พร้อมกล่าวเรียกขวัญที่ไปอยู่ในที่ต่างๆ ให้กลับมา จากนั้นลูกหลานจะมานั่งรวมกันเพื่อให้แม่เฒ่าผูกด้ายแดงรับขวัญที่ข้อมือ โดยจะผูกให้ลูกสาวก่อนลูกชาย ลูกหลานจะได้รับการผูกด้ายแดงรับขวัญเรียงลำดับกันไป  

                ทั้งนี้ในการผูกด้ายแดงนั้น ก่อนจะพันสามรอบผูกด้วยเงื่อนตาย แม่เฒ่าจะดึงเส้นด้ายจุ่มน้ำเล็กน้อย มาถูที่แขนพร้อมพึมพำเรียกขวัญด้วย  เชื่อว่าถ้าใครผูกติดข้อมือไว้ได้จนชนปีก็ยิ่งดีเป็นสิริมงคล เมื่อผูกเสร็จแล้วแม่เฒ่าจะเอาข้าวห่อใบดอกดาวกระจาย(หรือดอกไม้ใบอะไรก็ได้) กับเศษด้ายแดงที่เหลือจากผูกข้อมือแต่ละคนวางบนศีรษะซึ่งเชื่อว่าเป็นตำแหน่งที่อยู่ของขวัญ จะได้รับรู้ว่าขวัญได้กลับมาแล้ว  ผู้รับขวัญจะหยิบของบนศีรษะมาถือไว้แล้วเอาใบไม้เหน็บไว้ที่หู  และมีเชื่อว่าคนที่เกิดเดือน 9 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเดือนไม่ดี ต้องผูกด้ายแดงทั้งขาและแขน 2 ข้าง แล้วรับข้าวห่อที่ใช้ทำพิธีเรียกขวัญไว้ ในวันนั้นถ้ามีแขกมาเยือน ก็จะได้รับการเชิญให้ร่วมพิธีกรรมรับการผูกข้อมือทุกคน เป็นการให้เกียรติถือว่ามีความสัมพันธ์กับพวกเขาด้วย

                หลังจากผูกข้อมือเสร็จ ชาวกะเหรี่ยงทุกครัวเรือนต่างนำถาด ขัน หรือถ้วยชามใส่ข้าวห่อพร้อมน้ำจิ้ม มุ่งหน้าไปยังศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน เพื่อเซ่นไหว้วิญญาณผีบรรพบุรุษ  พร้อมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว การเซ่นไหว้ผีต้องเรียกผีให้มากินข้าวห่อด้วย เสร็จพิธีเรียกขวัญชาวบ้านก็มาร่วมกินข้าวห่อ อย่างไรก็ดีปัจจุบันกะเหรี่ยงส่วนใหญ่หันมานับถือศาสนาพุทธ ก็จะนำข้าวห่อไปถวายแด่พระสงฆ์ที่วัดแทน

                ทั้งนี้ช่วงเวลาการจัดงานประเพณีในเดือนเก้าเป็นช่วงเวลาที่พืชผลกำลังงอกงามอุดมสมบูรณ์ เป็นช่วงเวลาที่รอการเก็บเกี่ยว ทำให้มีเวลาว่างที่จะกลับมารวมญาติอีกครั้ง  หลังจากทำงานและเดินทางไปยังที่ต่างๆ ประสบเหตุร้ายต่างๆ เจ็บไข้ได้ป่วย ขวัญย่อมไม่อยู่กับเนื้อกับตัว  เป็นการเฉลิมฉลองร่วมกัน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านนัดหมายวันจัดไม่ให้ตรงกัน เพื่อจะได้มีโอกาศเยี่ยมเยือนญาติต่างหมู่บ้าน

                อย่างไรก็ดีปัจจุบันประเพณีกินข้าวห่อของหลายหมู่บ้าน มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามเศรษฐกิจ หากหมู่บ้านใดอยู่ใกล้เมืองและอาศัยพึ่งพาภายนอกมากขึ้น ข้าวห่อน้ำจิ้มอาจปรุงแบบง่ายและสะดวก ข้าวเหนียวอาจไม่ได้ปลูกเองเหมือนแต่ก่อน แต่ซื้อหามา น้ำผึ้งไม่มีใช้น้ำตาลทรายแทย เป็นต้น  บางหมู่บ้านอาจได้รับผลกระทบจากการวัฒนธรรมการท่องเที่ยว มีการนำประเพณีกินข้าวห่อมาส่งเสริมการท่องเที่ยว ปรุงแต่วัฒนธรรมเพื่อคนต่างถิ่น พิธีกรรมอาจแปรเปลี่ยนเป็น “การแสดง”

 


บรรณานุกรม

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ.ประเพณีอั้งมีถ่อง.กรุงเทพฯ: ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2545.

บุหลัน รันตี. "อั้งมี่ถ่อง." ใน เนชั่นสุดสัปดาห์. 19,9, 48 (กรกฎาคม 2553), 38.

ลิดาพรรณ จันทร์พิมำนสุข. "ปฏิบัติการสิทธิชุมชนในงานประเพณีกินข้าวห่อ “อั๊งมีทอง” ของชาวกะเหรี่ยงโพลว์งบ้านห้วยแห้ง อาเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี." ในฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย.http://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/(เข้าถึง 29 มกราคม 2558)

สุรินทร์  เหลือลมัย. "เดือนเก้ากินข้าวห่อกะเหรี่ยง." ใน วารสารเมืองโบราณ 19,3 (กรกฎาคม-กันยายน 2536), 49-56.

เรียกขวัญ กินข้าวห่อกะเหรี่ยง อำเภอหนองหญ้าปล้อง

กินข้าวห่อ เป็นประเพณีพิธีกรรมที่สร้างความสัมพันธ์สมานฉันท์ทางครอบครัวเฉกเช่นในอดีต ไม่ได้กำหนดวันทำพิธีตายตัว จะเป็นวันข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ แล้วแต่การตกลงนัดหมายกันในแต่ละปี ก่อนถึงวันงานทุก ๆ บ้านจัดเตรียมข้าวเหนียว ใบตอง ใบผาก มะพร้าว น้ำตาล น้ำผึ้ง ดอกไม้ไผ่ โดยลูกหลานจะช่วยกันห่อข้าวเหนียวด้วยใบตอง ใบไผ่ มัดให้แน่นด้วยเส้นตอก ข้าวห่อที่จะใช้ประกอบพิธีจัดทำเป็นพิเศษ ใช้ไม้ไผ่เส้นเดียวมาซอยซี่เป็นเส้นตอก แล้วมัดห่อใบตองเป็นพวงเดียวกัน แล้วนำไปต้มให้สุกในกระทะหรือปี๊บ มะพร้าวขูดใส่น้ำตาลหรือน้ำผึ้ง กวนเป็นหน้ากระฉีก สำหรับใช้จิ้มกับข้าวห่อเป็นคำ ๆ

“...ถ้าพูดถึงตั้งแต่เตรียมงาน มันก็ไม่ใช่ 3 วัน ถ้าเป็นสมัยก่อน หรือตั้งแต่เราเริ่มหาฟืน ก่อนที่ คือเรารู้แล้วว่า บ้านเราจะกินข้าวห่อวันไหน  อย่างกับที่นี่คือสิ้นเดือน 9 เนี่ยเราก็จะต้องเตรียมหาฟืน หาใบตอง... สมัยก่อนจะใช้ใบผาก คล้ายๆ กับไม้ไผ่ตรง แต่ว่าใบมันจะยาว ทุกวันนี้บางพื้นที่จะใช้ไม้ไผ่อยู่ อย่างพุพลูยังใช่ไม้ไผ่อยู่...เพราะว่าพอแกะออกมาเนื้อข้าวมันจะขาวสวย ใช้ใบผาก เนื้อข้าวเหนียวจะขาว จะอยู่ได้นานกว่า ไม่เหมือนใบตอง ใบตองนี้มันจะออกเหลือง ๆ จะไม่กี่วันก็จะมีบูด เป็นเชื้อราได้ง่ายกว่า แต่ว่าเนื่องจากว่าที่นี้อย่างที่ผมบอก เมื่อก่อนมันเป็นทรายแดง จะไปหาป่า จะไปหาไผ่มันก็ยากละ...”

 

“...ในวันต่อมาก็มาห่อ จะใช้เวลา 1 วัน หนึ่งวันหาฟืน เพราะว่าเราจะต้องต้ม ห่อนี้ก็คือหนึ่งวัน อยู่แล้ว อย่างกับที่นี่พอเวลาห่อคือที่นี่เป็นที่สุดท้ายของประเพณีกินข้าวห่อ คือสิ้นเดือน 9 ถ้าเลยเดือน 9 ไป ขึ้นเดือน 10 ก็จะไม่มี ทุกหมู่บ้านจะมาที่นี่ บางบ้านก็จะ 2-3 ถัง คือใช้เวลาห่อ 1 วัน แล้วก็ต้มอีก 1 วัน วันต้มคือวันก่อนที่จะกิน คือวันต้มพอช่วงเย็นมาเนี่ย ข้าวห่อเราจะเตรียมใส่กระบุง ใส่ตะกร้าไว้ต่างหากแล้วทำข้าวห่อช่อไว้ เขาเรียก เรียกขวัญ...”                                  (เจริญพร และศรีเจริญ สถาพล,2561: สัมภาษณ์)

 

การเตรียมข้าวห่อเป็นช่อ จะเป็นการเอาไม้ไผ่ลวกเหลาเพื่อที่จะแยกออกมาเป็นหลายๆ ลูก ช่อหนึ่งอาจจะเป็น 49, 39, 29  รวมกันเป็นช่อ ไม้ต้องมัด จะมีตอกที่เหลาจากไม้ลวกเป็นไม้ท่อน จะเป็นเครื่องที่จะสักการะเอาไว้เรียกขวัญ เรียกว่า “ช่อเรียกขวัญ” ในช่วงนั้นช่วงเย็น เตรียมไว้ไม่ว่าของที่บูชา ไม่ว่าเป็นสร้อย สมัยก่อนเป็นข้อสร้อย ข้อมือ เป็นสิ่งของเครื่องประดับจะเอามารวมไว้ในตะกร้า จะเอามาเรียกขวัญ ใส่ในกระบุงตะกร้าที่เตรียมไว้ ประกอบด้วยข้าวห่อลูก แล้วข้าวห่อแม่ ที่เป็นข้าวห่อช่อ กล้วยสุก 1 หวี แล้วจะมียอดดาวเหลือง 7 ยอด แล้วก็จะมีอ้อย  อ้อยผ่าซีกออกมาเป็นลำเล็ก ๆ เป็นซี่เล็ก ๆ ประมาณ 5 ซีกหรือว่า 7 ซีก ด้ายสีแดงที่เตรียมไว้ซึ่งตัดไว้แล้ววางไว้

ตอนพลบค่ำประมาณสองทุ่มมีการให้สัญญาณเรียกขวัญครั้งที่ 1 เรียกขวัญครั้งแรก เป็นพ่อบ้านหรือแม่บ้าน สมัยก่อนจะหยิบตะกร้าออกมาไว้ที่บันได หัวหน้าหมู่บ้านหรือชุมชนจะเคาะแม่บันไดกับตะหลิว หรือไม้พายคนข้าวเคาะเรียกขวัญ เรียกเป็นภาษากะเหรี่ยง ซึ่งในสมัยนี้จะเป็นภาษาไทย หมายถึงขวัญที่อยู่ในป่าในเขา ชักชวนขวัญที่กระเจิงไปตามที่ต่างๆ ให้กลับมา มักมีข้อความคล้ายกันคือ

ขวัญเอยขวัญอยู่ในดงมา อยู่ในป่ามา อยู่กับผีมา อยู่กับสางมา ขวัญจงไปอยู่กับผีกับสาง ไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่พวก ไม่ใช่ฝูงเรา ขวัญอยู่ในดงมา อยู่ในห้วยมา อยู่ในหนองมา อยู่ในทุ่งมา อยู่กับอยู่กับพ่อกับแม่ มาอยู่กับลูกกับเมีย (ผัว) มาผูกแขน มากินข้าวห่อ อย่าได้ไปเที่ยวจนไกล

“...ตรูละฤไท ฤทัย ก็คือเรียกขวัญให้ขวัญกลับมา, ฤไทโอ้ละเกอ ฤไทโอ้ละกั้ง ก็คือกลับมาอยู่ที่บ้าน, พู่ฤไทโอ่เดมู พู่ฤไทโอเดพาง มาอยู่กับปู่ยาตายาย พ่อแม่พี่น้อง, ฤไทไขโจ่ง ฤไทไขข้าง คือมาถูกแขน ผูกข้อมือ ข้อเท้า, ฤไทอ้าง, ในตะกร้า ของอันนี้ที่มันมีกล้วย คือสมัยก่อนนะ กะเหรี่ยงถ้าจะถามว่า เราจะหาผลหมากลากไม้อะไรในไร่ข้าว ก็จะมีกล้วย มีอ้อย ที่ปลูก เหมือนกับว่าเรียกขวัญกลับมากินกล้วย มากินอ้อย มาอยู่กับปู่ตายาย ก็เขาบอกว่าในหนึ่งปีของคนเรา เราเดินทางไปไหน ต่อไหนเยอะแยะไปหมด อาจจะขวัญหนีดีฝ่อที่ไหนก็ได้ ปีหนึ่งก็คือกลับมาบ้าน กลับมาเรียกขวัญ อันนี่รอบแรกที่ พอตกกลางคืน บ้านเราจะเปิดประตูหน้าต่าง เราจะไม่มีการปิด รอให้ขวัญกลับมา วนกลับมา แล้วพอตอนเช้าตอนตี 5 แล้วก็เอาตะกร้านั้นออกมาตั้งอีก เราก็จะเรียก อีก 1 ครั้ง 1 รอบก็เหมือนเดิมเราก็เรียก...”           

(เจริญพร และศรีเจริญ สถาพล,2561: สัมภาษณ์)

          การเรียกขวัญจะทำซ้ำอีกในย่ำรุ่งของวันใหม่ ด้วยผู้เฒ่าผู้แก่จะเคาะหัวบันไดบ้าน และกรอบประตู พร้อมกล่าวชักชวนเรียกขวัญที่ต่าง ๆ ให้กลับมา จากนั้นลูกหลานจะนั่งร่วมกันบนระเบียงบ้านเพื่อให้ผู้เฒ่าผู้แก่ผูกด้ายแดงเรียกขวัญที่ข้อมือ โดยจะผูกข้อมือให้ลูกสาวก่อน ลูกหลานจะได้รับผูกด้ายแดงเรียกขวัญเรียงลำดับกันไป ใครเกิดเดือน 9 ลองผูกให้ก่อนคนอื่น พร้อมผูกข้อเท้าด้วย ผูกเสร็จแต่ละคน ผู้เฒ่าแม่เฒ่าจะหาข้าวห่อ ยอดดอกดาวเรืองหรือดอกไม้อะไรก็ได้กับเส้นด้ายแดงที่เหลือจากการผูกข้อมือของแต่ละคน วางบนศีรษะ ผู้รับขวัญจะหยิบของบนศีรษะมาถือไว้ แล้วเอาใบไม้เหน็บที่ใบหู ในวันนั้นถ้ามีแขกผู้มาเยือนอยู่บนบ้าน จะถูกเชิญให้ร่วมพิธีผูกข้อมือทุกคน นับเป็นการให้เกียรติถือว่ามีความสัมพันธ์กับพวกเขาด้วย

หลังการผูกข้อมือเรียกขวัญให้ลูกหลานเสร็จพอดีสว่างรุ่งอรุณของวันใหม่ ชาวกะเหรี่ยงทุกครัวเรือน จากถือถาดขนมถ้วยชามใส่ข้าวห่อพร้อมน้ำจิ้ม ไปยังศาลประจำหมู่บ้านเพื่อทำบุญ บางชุมชนหากไม่มีศาล จะนำไปเซ่นไหว้ศาลากลางหมู่บ้าน หรือนำไปทำบุญถวายพระสงฆ์ที่วัด  ยามสายเป็นเวลาที่แต่ละครัวเรือนรวมญาติมิตรกินข้าวห่อ บางครอบครัวมีลูกหลานจำนวนมากได้พบกันปีละครั้ง ด้วยหลักการต้องการให้บรรดาญาติพี่น้อง ครอบครัวเดียวกันได้พบปะสังสรรค์ การผูกข้อมือเรียกขวัญทำให้เด็กรุ่นใหม่ มีความภาคภูมิใจและเคารพรักในบรรพบุรุษของตน หนุ่มสาวจะออกเที่ยวทั่วหมู่บ้าน ขึ้นบ้านหลังใดก็มีข้าวห่อมาต้อนรับ เป็นประเพณีผูกมัดรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมได้อย่างแน่นแฟ้น

          อย่างไรก็ตามพบว่า ในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านยางน้ำกลัดใต้นั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ลูกหลานบางคนไปทำงานหรือเรียนในตัวเมือง จะเก็บด้ายผูกข้อมือเอาไว้เพียง 3 หรือ 7 วัน แต่บางคนเก็บไว้ตลอดปี ยังรวมถึงคนกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ไม่สามารถพูดภาษากะเหรี่ยงได้อีกแล้ว

 “...เด็กสมัยนี้เขาก็ เขาจะอาย เพราะถ้าไปเรียนแล้ว อย่างของพวกพี่เนี่ยจนกว่ามันจะขาดไป จะหลุดไป คือมันเป็นการปลูกฝังตั้งแต่สมัยพวกผมเด็กๆ เพราะว่าสมัยนั้น คนไทย ก็เพิ่งเข้ามา แล้วคนกะเหรี่ยงพูดก็ไม่ค่อยชัด สมัยก่อนก็จะถูกล้อเลียน พูดไทยไม่ชัด เลยทำให้บางคน เป็นจุดที่เป็นปมด้อย เข้าเมืองก็ไม่ให้เขารู้เลยว่าเป็นกะเหรี่ยง สมัยนั้นเขาดูจากด้ายผูกข้อมือก็รู้ว่าเป็นกะเหรี่ยง ดูสำนวนการพูดบางที เขาก็รู้แล้วครับ...”

(เจริญพร สถาพล,2561: สัมภาษณ์)

          ในเดือน 9 นี้ในสองอำเภอของจังหวัดเพชรบุรี จะมีประเพณีเวียนศาลาและกินข้าวห่อที่ไม่จัดงานในวันเดียวกัน หากจะหมุนเวียนกันไปตามแต่ละชุมชน เช่น บ้านพุพลูจะกินข้าวห่อ 15 ค่ำ ตั้งแต่ขึ้น 8 ค่ำจะจัดงานที่บ้านหนองปืนแตก อำเภอแก่งกระจาน  ขึ้น 15 ค่ำที่บ้านพุพลู รวมหมู่ 3 หมู่ 4 พร้อมกับบ้านสองพี่น้อง ที่อำเภอแก่งกระจาน บ้านลิ้นช้างจะจัดแรม 4 ค่ำ  จัดแรม 8 ค่ำที่บ้านยางน้ำกลัดเหนือและบ้านห้วยเกษม  จัดแรม 12 ค่ำ บ้านท่าเสลา จัดแรม 13 ค่ำที่บ้านพุน้ำร้อน จัดแรม 14 ค่ำจัดที่บ้านยางน้ำกลัดใต้ ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นเดือนของไทยจะมีแค่ 14 ค่ำเท่านั้น

          นอกจากกิจกรรมตามประเพณีแล้ว ยังมีกิจกรรมของหน่วยงานเช่น วัด โรงเรียน จะสลับสับเปลี่ยนกัน จัดมหรสพงานรื่นเริงรวมไปถึงกีฬา เพื่อสร้างรายได้ให้กับวัดหรือโรงเรียนอีกด้วย

          ประเพณีกินข้าวห่อเรียกขวัญดังกล่าวนี้ได้รับการยอมรับและกลายเป็น “ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และเอกลักษณ์ท้องถิ่น” เมืองเพชรบุรี ดังคำอธิบายของ “ข้อมูลจังหวัดเพชรบุรี” ว่า

“ประเพณีข้าวกระเหรี่ยง เป็นประเพณีที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ของชาวกะเหรี่ยงอำเภอหนองหญ้าปล้อง และอำเภอแก่งกระจาน เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ ลูกหลาน ญาติ ๆ กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันในครอบครัว โดยมีการผูกแขนเรียกขวัญ และกินข้าวห่อกระ เหรี่ยง โดยกำหนดพิธีกรรมในวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี การกำหนดวันประเพณีขึ้นอยู่แต่ ละหมู่บ้านกำหนดกันเอง ช่วงเวลาที่ทำพิธีกรรมมี 2 วัน” (ข้อมูลจังหวัดเพชรบุรี, ม.ป.ป:38)


บรรณานุกรม

ข้อมูลจังหวัดเพชรบุรี. (ม.ป.ป). เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562. เข้าถึงได้จากhttp://phetchaburi.go.th/phet2/CODE/files/1416470966_ข้อมูลจังห.pdf

เจริญพร สถาพล, สารวัตรกำนัน. (2561). สัมภาษณ์. เมื่อวันที่ 29-30ธันวาคม 2561. บ้านยางน้ำกลัดใต้ ตำบลยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี.

ดำรงพล  อินทร์จันทร์. 2562. รายงานโครงการวิจัยพลวัตชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงภาคตะวันตกของไทย ระยะที่ 1พื้นที่ศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ;ชุดโครงการศึกษาวิจัยพลวัตของชุมชนชาติพันธุ์เพื่อการสร้างแผนที่วัฒนธรรมมีชีวิต ปีที่ 1 (พ.ศ.2562). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ศรีเจริญ บุญเลิศ สถาพล. (2561). สัมภาษณ์. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2561. บ้านยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี.

บ้านห้วยเกษม(ห้วยแห้ง) ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี
ละติจูด = 13.1629681 ลองติจูด= 99.6621427

บ้านโป่งกระทิงบน กิ่งอ.บ้านคา จ.ราชบุรี
ละติจูด = 13.3239569 ลองติจูด= 99.483391

บ้านยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี.
ละติจูด = 13.08629 ลองติจูด= 99.71940