ก่อพระเจดีย์ทราย วัดปากสมุทร

6309 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น :
เดือนที่จัดงาน : มีนาคม
เวลาทางจันทรคติ : วันแรม 14 ค่ำเดือน 4 – วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5
สถานที่ : วัดปากสมุทร ต.แหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
ภาค / จังหวัด : ภาคกลาง
: สมุทรสงคราม
ประเภท : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : ก่อพระเจดีย์ทราย,วัดปากสมุทร,ตำบลแหลมใหญ่
ผู้เขียน : สาวิตรี ตลับแป้น
วันที่เผยแพร่ : 4 ก.ค. 2561
วันที่อัพเดท : 4 ก.ค. 2561

งานประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายวัดปากสมุทร

          ประเพณีการก่อพระเจดีย์ทราย  วัดปากสมุทร ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ได้สืบทอดมาอย่างยาวนาน และได้กลายมาเป็นงานประเพณีประจำปีของวัดปากสมุทร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2488 กำหนดจัดงานตามจันทรคติคือ วันแรม 14 ค่ำเดือน 4 ถึงวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ในช่วงเทศกาลตรุษไทย

          งานก่อพระเจดีย์ทรายของที่นี่ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การจัดงานของวัดปากสมุทรและการแข่งขันก่อพระเจดีย์ทรายจัดโดย อบต.แหลมใหญ่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยการก่อพระเจดีย์ทรายของทางวัด  มีเจ้าภาพนำทรายมาบริจาคกองไว้ที่ลานวัด ในปีนี้การจัดงานยังคงกำหนดวันตามจันทรคติคือในวันที่ 15-17 มีนาคมโดยเลือกให้วันที่ก่อพระเจดีย์ทรายเป็นวันที่ 16 มีนาคม ที่กองทรายของวัดมีการประดับธงทิวและประดับดวงไฟอย่างสวยงาม

          การก่อพระเจดีย์ทรายของชาวบ้าน ไม่ได้กำหนดรูปแบบที่แน่นอน โดยทางวัดจะเตรียมอุปกรณ์ให้เป็นกรวยกระดาษ และธงกระดาษหลากสีอันเล็กๆ  บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาก่อพระเจดีย์ทรายได้ตามจิตศรัทธา เพื่อเป็นพุทธบูชา ส่วนกองทรายที่หน้าอบต.แหลมใหญ่มีไว้สำหรับการแข่งขัน  ผู้เข้าแข่งขันจะต้องมีการส่งใบสมัคร มีชื่อทีมของตนเอง  การจัดการแข่งขันได้ริเริ่มขึ้นโดยนายกอบต. แหลมใหญ่ นายอมรศักดิ์  ฉัตรระทิน   ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการสืบทอดประเพณี และต้องการให้การก่อพระเจดีย์มีสีสันมากขึ้น ในปีนี้ผู้เข้าแข่งขันเป็นทีมประชาชนทั่วไป 7 ทีม ได้แก่ โยธาพัฒ์ รพ.สต.วัดปากสมุทร อสม.หมู่ 4  พิลึก มหิดล บางจะเกร็ง เด็กฝึกงาน และทีมของเยาวชนอายุไม่เกิน18 ปี 8 ทีม ได้แก่ ตามหาฝัน สภาเด็ก อะไรหว่า? จุด 3 จุด…  เด็กวัดทุม บางสะแก 1 บางสะแก 2  PSM Family Club การจัดการแข่งขันกำหนดขึ้นในตอนเย็นเวลา 17.00-19.00 น.

          เกณฑ์การตัดสินการแข่งขันก่อพระเจดีย์ทรายประจำปีพ.ศ. 2561 ได้แก่ ความสวยงาม  ความคิดสร้างสรรค์  ความประหยัดและการประยุกต์ใช้วัสดุ  การนำเสนอ  การสะท้อนอุดมคติ  ผลการแข่งขัน ทีมของ รพ.สต.วัดปากสมุทรได้รางวัลชนะเลิศ  โดยได้จำลองพระมหาธาตุนภเมทนีดล-พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ เจดีย์คู่พระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี ที่อยู่บนยอดดอยอินทนนท์ขึ้นมาอย่างสวยงาม อีกทั้งยังใช้เทคนิคสร้างบรรยากาศหมอกบนยอดดอยสูงออกมาได้อย่างตื่นตาสมจริง  ส่วนทีมอื่นๆ ล้วนมากันด้วยความตั้งใจ  แม้จะเป็นการแข่งขัน แต่ทุกคนมีความสุขสนุกสนานกับการทำงานกลุ่ม มีทีมแต่งกายชุดไทยนุ่งโจงกระเบนมาทั้งทีม  นอกจากจะต้องพยายามก่อเจดีย์ทรายให้สวยได้รูปทรงแล้ว ยังใช้จินตนาการกันอย่างเต็มที่ ช่วงขึ้นรูปเจดีย์ทราย มีทีมที่ใช้นวัตกรรมวงเวียนที่ผู้เชี่ยวชาญคิดประดิษฐ์ขึ้นมา เมื่อหมุนวงเวียนไม้ที่กองทราย  กองทรายได้กลายเป็นรูปเจดีย์ผิวทรายเรียบสวยงาม อุปกรณ์อื่นๆ บ้างก็ใช้ไม้แบบ ก้อนอิฐ มาทำเป็นกรอบที่ฐานก่อนขึ้นรูป บ้างก็ใช้กะละมังพลาสติกตัดก้นมาวางเป็นฐานเพื่อขึ้นรูปทราย   ผ่านไปหนึ่งชั่วโมงเจดีย์ทรายเริ่มเห็นส่วนประกอบอื่นๆต่อจากฐาน เป็นรูปพญานาค เต่า ปู ช้าง ปลาทูฯลฯ ในการจัดตกแต่งรอบเจดีย์ บางทีมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการจัดแต่งสวนรอบเจดีย์ทรายให้มีต้นไม้สระน้ำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

          จากการสัมภาษณ์ทางทางวัดและทางอบต. แหลมใหญ่ ต่างให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าการที่งานประเพณีการก่อพระเจดีย์ทราย มีผู้เข้าร่วมงานไม่มากนัก เนื่องจากเลือกวันจัดงานตามจันทรคติทำให้บางปีอย่างเช่นปีนี้การจัดงานไม่ตรงกับวันหยุด ผู้ที่มาร่วมงานส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านละแวกนี้ ซึ่งยังคงประกอบอาชีพการประมงแบบพื้นบ้าน จับปู ปลา งมหอย และบริเวณนี้ ก็ไม่ใช่จุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้นการเลือกวันจัดงานจึงเน้นเอื้อกับคนในชุมชนอย่างแท้จริง เพราะวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านขึ้นอยู่กับน้ำขึ้นน้ำลงช่วงหน้าร้อน เดือนสี่เดือนห้าน้ำน้อยเวลากลางวัน น้ำขึ้นตอนกลางคืน ทำให้ชาวประมงออกทะเลเวลากลางวัน และกลับเข้าฝั่งตอนเย็น ชาวบ้านซึ่งเป็นชาวประมงจึงมีความสะดวกที่จะจูงลูกจูงหลานมาที่ลานวัด มาก่อพระเจดีย์ทรายร่วมกันในตอนเย็น

          ความเป็นมาของการก่อเจดีย์ทรายก็เป็นไปตามพุทธประวัติ  โดยท่านเจ้าอาวาสวัดปากสมุทร พระครูสมุห์มนตรี สุมังคโล ได้ศึกษาที่มากล่าวว่าสมัยพระพุทธองค์ทรงปฏิบัติธรรมอยู่ริมแม่น้ำคงคาญาติโยมนำข้าวปลาอาหารมาถวายทุกวัน เวลาเดินทางกลับที่พักจะเหยียบดินหินทรายในบริเวณวัดกลับไปบ้านด้วย คนโบราณเขาถือว่าไม่ควรนำทรัพย์สมบัติของวัดติดมาบ้าน ถือว่าเป็นบาป ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดว่าเราควรใช้หนี้สงฆ์ด้วยการนำดินหินทรายกลับมาคืน โดยการขนทรายในแม่น้ำคงคามาให้กับวัดเพื่อให้วัดได้ใช้ประโยชน์

          สำหรับธรรมเนียมการปฏิบัติในการก่อพระเจดีย์ทราย ที่มีการปักธงทิว และปักฉัตร 4 ทิศ 9 ชั้น มาจากครั้งพุทธกาล คราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังแคว้นโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลชักชวนพุทธบริษัทบริวารชายหญิงสร้างและก่อพระเจดีย์ทรายเพื่อต้อนรับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีการอธิษฐานเป็นพุทธบูชา ด้วยการปักธงทิวและปักฉัตร 4 ทิศ 9 ชั้น

          ลักษณะเด่นประการหนึ่งของวัดปากสมุทร คือความผูกพันของวัดกับชุมชน มีลักษณะที่วัดเป็นของชุมชนโดยแท้จริง  เห็นได้จากการโอบล้อมด้วยสถานที่อันเป็นศูนย์รวมการใช้ประโยชน์ของชุมชน มีโรงเรียนวัดปากสมุทร(ไวยวุฒิชนานุสรณ์)  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) วัดปากสมุทร  ในวันเสาร์-อาทิตย์มีตลาดนัด และที่ท่าน้ำของวัดยังใช้เป็นที่จอดเรือประมง มีการขนส่งสินค้าประมงจากเรือขึ้นที่ท่าน้ำไปยังตลาด ส่วนของงานอื่นๆ ที่รวมอยู่ในช่วงการจัดงานก่อพระเจดีย์ทราย มีงานเทศน์มหาชาติ งานทอดผ้าป่าสามัคคี งานทำบุญเดือนสี่ งานทำบุญปิดทององค์พระหลวงพ่อดำ  การแสดงนาฏศิลป์ไทยละครรำคณะกนกรัตน์บันเทิงศิลป์ และการแข่งเรือใบภูมิปัญญาท้องถิ่น

          การแข่งเรือใบเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นมาใหม่  พร้อมกับการแข่งขันก่อพระเจดีย์ทราย  เริ่มขึ้นจากทางอบต.แหลมใหญ่  ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เกิดมาจากว่าชุมชนแถบนี้มีวิถีชีวิตชาวประมง ช่วงที่น้ำมันแพง ชาวบ้านได้นำวัสดุที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นไม้ไผ่ ผ้าห่ม ผ้าใบพลาสติก มาทำเป็นใบเรือให้แล่นไปตามลม  ทางอบต.แหลมใหญ่โดยนายกอบต.อมรศักดิ์จึงได้คิดว่า สามารถทำให้เป็นเกมสร้างความสนุกสนานได้  การแข่งขันใช้ระยะทางประมาณ 2 กม.

          ปัจจุบันการจัดการแข่งขันก่อพระเจดีย์ทรายและแข่งขันเรือใบภูมิปัญญาท้องถิ่น ยังเป็นที่สนใจในวงจำกัด เนื่องจากยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆเท่าที่ควร  ดังจะเห็นว่าแข่งขันเรือใบในปีนี้มีเพียงสิบทีม จากเดิมในช่วงแรกมีทีมเข้าแข่งขันถึงสามสิบลำ ซึ่งในตอนนั้นคนที่มีโอกาสชมการแข่งขันล้วนประทับใจที่เห็นเรือใบชาวบ้านกางใบเต็มลำน้ำ ส่วนของการแข่งขันก่อพระเจดีย์ทรายยังไปได้ด้วยดี  โดยเฉพาะทีมเยาวชนที่มีคนใหม่ๆเข้ามาร่วมทีมทดแทนกัน เป็นการสืบสานวัฒนธรรมการก่อพระเจดีย์ทรายที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน


บรรณานุกรม

ประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย.(ออนไลน์)แหล่งที่มา www.thaigoodview.com(6 พฤษภาคม 2561).

หลวงพ่อวัดปากสมุทร.(ออนไลน์)แหล่งที่มา www.ryt9.com(6 พฤษภาคม 2561).

รัตนาภรณ์ บรณัติ.(วันที่ 16 มีนาคม 2561).สัมภาษณ์. หัวหน้าสำนักปลัด อบต.แหลมใหญ่ ต.แหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม .

ลุงปอยและพระลูกวัดปากสมุทร.(วันที่ 16 มีนาคม 2561).สัมภาษณ์. ชาวบ้านและพระลูกวัดปากสมุทร ต.แหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม.

อมรศักดิ์  ฉัตรระทิน.(วันที่ 16 มีนาคม 2561).สัมภาษณ์. นายกอบต.แหลมใหญ่ ต.แหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม.

อุทิศ ดวงผาสุข.(วันที่ 16 มีนาคม 2561).สัมภาษณ์. ผอ.รพ.สต.วัดปากสมุทร ต.แหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม.

แผ่นพับงานก่อพระเจดีย์ทราย  เรียบเรียงโดย นางอารี สุวีรานนท์ โรงเรียนศรัทธาสมุทร.