บุญเลี้ยงบ้านไทพวน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

6541 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : บุญกลางบ้าน, บุญซำฮะบ้าน, ซำฮะบ้าน
เดือนที่จัดงาน : เมษายน,พฤษภาคม
เวลาทางจันทรคติ : วันขึ้น 5 ค่ำ ถึงวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ตามเวลาทางจันทรคติ
สถานที่ : บ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
ภาค / จังหวัด : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
: เลย
ประเภท : ประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากิน,ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน,ประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเพื่อสิริมงคล
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : บุญเลี้ยงบ้าน, บุญกลางบ้าน, บุญซำฮะบ้าน, ต้นมะขามใหญ่, ไทพวนบ้านกลาง
ผู้เขียน : ธีระวัฒน์ แสนคำ และศิริรัตน์ ทองโคตร
วันที่เผยแพร่ : 6 ก.ค. 2561
วันที่อัพเดท : 6 ก.ค. 2561

ประเพณีบุญเลี้ยงบ้านไทพวน บ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

          ชุมชนบ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นชุมชนของชาวไทพวนที่อพยพมาจากเมืองพวนทางตอนเหนือของประเทศลาวในปัจจุบันเมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว ชุมชนชาวไทพวนแห่งนี้ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานประเพณีบุญเลี้ยงบ้านเดือนหก หรือบุญซำฮะบ้าน ซึ่งเป็นงานประเพณีที่ชาวบ้านกลางต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกปี เพื่อความเป็นศิริมงคลและความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน

          คำว่า “ซำฮะ” เป็นภาษาถิ่นซึ่งมีความหมายเดียวกันกับคำว่า “ชำระ” ซึ่งหมายถึงการล้างให้สะอาด การจัดงานประเพณีบุญซำฮะบ้านนี้พบได้ทั่วไปในภาคอีสาน เนื่องจากเป็นงานประเพณีที่ถูกระบุอยู่ใน “ฮีตสิบสอง” ว่าบุญซำฮะเป็นงานบุญประจำเดือนเจ็ด แต่ที่ชุมชนไทพวนบ้านกลางจะมีการจัดงานบุญชำฮะขึ้นในเดือนหก และมีการทำบุญ “เลี้ยงบ้าน” หรือ “บุญเบิกบ้าน” ควบคู่กันด้วย ซึ่งในงานบุญนี้นอกจากจะทำพิธีขับไล่สิ่งชั่วร้ายแล้ว ยังต้องมีการทำพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้านและประชาชนในชุมชน

          บุญเลี้ยงบ้านของชาวไทพวนบ้านกลางจะจัดขึ้นในระหว่างวันขึ้น 5 ค่ำ จนถึงวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนหก ตามจันทรคติเป็นประจำทุกปี คุณยายวิลัย ทีนา อายุ 75 ปี (สัมภาษณ์ พ.ศ.2561) เล่าว่า

          “ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ปู่ย่าตายายมา ก็เห็นมาอยู่แบบนี้ ยายก็ได้ทำอยู่อย่างนี้ เพราะว่ายายอยู่กับปู่ย่าตายาย เขาพาทำก็ทำจนมาถึงตอนนี้ แม่ของยายอายุ 74 ปีเสียชีวิต ปู่ย่าตายายก็ 80 ปีตาย เขาคือคนที่สอนทำ

          ชาวบ้านจะจัดทำพิธีกันที่บริเวณต้นมะขามใหญ่กลางหมู่บ้าน ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่สถิตของเทวดาอารักษ์ที่คุ้มครองปกปักรักษาชุมชนบ้านกลาง ต้นมะขามต้นนี้เชื่อกันว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี ชาวไทพวนบ้านกลางจึงถือเอาต้นมะขามใหญ่เป็นเสมือนเสาหลักบ้าน และใช้เป็นสถานที่สำคัญในการประกอบพิธีกรรมซำฮะบ้านและทำบุญเลี้ยงบ้าน ดังนั้น ในงานบุญเลี้ยงบ้านจึงมีพิธีพายศรีสู่ขวัญให้กับต้นมะขามใหญ่ซึ่งคือเสาหลักบ้านของชาวบ้านกลางด้วย

          ในระหว่างวันขึ้น 5 ค่ำ จนถึงวันขึ้น 7 ค่ำ เดือนหก ช่วงเย็นจะมีการนิมนต์พระสงฆ์สามเณรมาเจริญพระพุทธมนต์ที่ศาลาใต้ต้นมะขามใหญ่กลางหมู่บ้านติดต่อกันเป็นเวลา 3 คืน ส่วนตอนเช้าวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนหก ก็จะมีการทำบุญใส่บาตร ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์สามเณร และประกอบพิธีซำฮะบ้านตามลำดับ

          วันขึ้น 5 ค่ำ เดือนหก ในช่วงกลางวัน ชาวบ้านจะนำอุปกรณ์และสิ่งของต่างๆ มารวมกันที่ศาลากลางบ้านหรือบริเวณต้นมะขามใหญ่ เพื่อจัดทำบายศรี เครื่องร้อย กระทงหน้าวัวขนาดใหญ่ ก่อเจดีย์ทราย และเตรียมสถานที่เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม

          บายศรีจะทำด้วยใบตอง ประดับด้วยดอกไม้ที่หาได้ในหมู่บ้าน เครื่องร้อย คือเครื่องบูชาที่ทำอย่างละ 100 ชิ้น ได้แก่ คำหมาก คำพลู บุหรี่และธุง (หรือธง) ส่วนกระทงหน้าวัวหรือกระทงสามเหลี่ยมนั้น ภายในกระทงจะประกอบไปด้วย คำหมาก คำพลู มวนบุหรี่อย่างละ 9 ชั้น ข้าวดำ (ทำจากข้าวเหนียวคลุกกับงาดำ) ข้าวแดง (ทำจากข้าวเหนียวคลุกกับขมิ้นกับปูน) ธูป เทียนและดอกไม้อย่างละ 1 คู่  จากนั้นก็ทำขันหมากเบ็ง ซึ่งเป็นเครื่องบูชาที่ทำด้วยใบตองเพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัยและบูชาต้นมะขามใหญ่ นำต้นกล้วย ต้นอ้อย และต้นหมากมาเป็นเครื่องบูชา ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ จากนั้นก็จะมีการขนทรายจากแม่น้ำเลยมาก่อเป็นเจดีย์ทรายเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมซำฮะบ้าน ในขณะเดียวกันก็จะมีการจัดเตรียมสถานที่รอบๆ ต้นมะขามใหญ่เพื่อใช้ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็น

          ช่วงพักกลางวันชาวบ้านที่มาเตรียมสถานที่ก็จะประกอบอาหารและรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน จากนั้นช่วงบ่ายก็จะมีการไปขนทรายจากแม่น้ำเลยไปก่อเจดีย์ทรายตามทางเข้าออกหมู่บ้านทั้ง 4 ทิศ

          ช่วงเย็นของวันขึ้น 5 ค่ำ เดือนหก เวลาประมาณ 19.00 นาฬิกา ก็จะมีการนิมนต์พระสงฆ์สามเณรที่พำนักอยู่ภายในวัดประจำหมู่บ้านมาประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ที่ศาลาใต้ต้นมะขามใหญ่ โดยมีชาวบ้านกลางทุกหลังคาเรือนมาฟังพระสวดเจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จ ก็จะมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ชาวบ้านจะนำน้ำที่กรวดอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษซึ่งมีภาชนะรองรับอยู่มากรวดน้ำที่โคนต้นมะขามใหญ่ เป็นอันเสร็จพิธี บางครั้งหลังเสร็จพิธีเจริญพระพุทธมนต์แล้วก็จะมีการร้องรำทำเพลงของชาวบ้านอย่างสนุกสนาน

          วันขึ้น 6 ค่ำ เดือนหก ในช่วงกลางวันชาวบ้านก็จะดำเนินชีวิตตามปกติ แต่เมื่อถึงเวลาประมาณ 19.00 นาฬิกา ก็จะมีการนิมนต์พระสงฆ์สามเณรที่พำนักอยู่ภายในวัดประจำหมู่บ้านมาประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ที่ศาลาใต้ต้นมะขามใหญ่ โดยมีชาวบ้านกลางทุกหลังคาเรือนมาฟังพระสวดเจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จ ก็จะมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ชาวบ้านจะนำน้ำที่กรวดอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษซึ่งมีภาชนะรองรับอยู่มากรวดน้ำที่โคนต้นมะขามใหญ่ เป็นอันเสร็จพิธี บางครั้งหลังเสร็จพิธีเจริญพระพุทธมนต์แล้วก็จะมีการร้องรำทำเพลงของชาวบ้านอย่างสนุกสนานเช่นเดียวกับคืนแรก

          วันขึ้น 7 ค่ำ เดือนหก ในช่วงกลางวันชาวบ้านก็จะดำเนินชีวิตตามปกติ แต่จะเตรียมหาวัตถุดิบและอุปกรณ์ประกอบอาหารไว้เพื่อเตรียมทำอาหารไปถวายพระในเช้าวันขึ้น 8 ค่ำ ซึ่งจะต้องนำไปถวายทุกครัวเรือน และเมื่อถึงเวลาประมาณ 19.00 นาฬิกา ก็จะมีการนิมนต์พระสงฆ์สามเณรมาประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ที่ศาลาใต้ต้นมะขามใหญ่เช่นเดียวกับทั้งสองคืนที่ผ่านมา

          วันขึ้น 8 ค่ำ เดือนหก ชาวบ้านจะตื่นกันแต่เช้า เพื่อประกอบอาหาร โดยเน้นเมนูพื้นบ้านเป็นหลัก และมีหลายเมนูรวมกัน เมื่อนำมาวางในถาดจะถูกเรียกรวมว่า “พาข้าว” ซึ่งจะประกอบไปด้วยอาหารคาว อาหารหวานและผลไม้ต่างๆ ทุกครัวเรือนจะต้องนำพาข้าวมาถวายพระ ทำให้ในพิธีกรรมเลี้ยงบ้านตอนเช้าจะมีอาหารหวานคาวถวายพระเป็นจำนวนมาก

          นอกจากพาข้าวแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนต้องทำและนำมาร่วมพิธีก็คือ กระทงหน้าวัวขนาดเล็ก ภายในกระทงจะประกอบไปด้วย คำหมาก คำพลู มวนบุหรี่อย่างละ 9 ชั้น ข้าวดำ ข้าวแดง ธูป เทียนและดอกไม้อย่างละ 1 คู่ เหมือนกับกระทงใหญ่แต่จะต่างกันที่กระทงเล็กจะมีข้าวเหนียวที่ปั้นเป็นก้อน แล้วนำมาสัมผัสร่างกายของคนในครัวเรือน คุณตาใส คำพิมพ์ อธิบายว่า การนำก้อนข้าวมาสัมผัสกับร่างกายแล้วนำไปใส่ในกระทง เป็นเสมือนการได้นำเอาสิ่งไม่ดีเสนียดจัญไรต่างๆ ออกจากร่างกาย โดยจะนำไปวางไว้ข้างเจดีย์ทราย และยังมีการนำถังบรรจุกรวดทรายมาร่วมพิธีด้วย ซึ่งกรวดทรายนี้หลังเสร็จพิธีแล้วชาวบ้านจะนำไปโรยรอบบ้านเรือนและไร่นาของตนเอง เพื่อความเป็นศิริมงคลและขับไล่สิ่งอัปมงคลต่างๆ ออกไป

          เมื่อเริ่มสว่างเวลาประมาณ 7.00 นาฬิกา ชาวบ้านก็ทยอยนำอาหารและนำเสื่อไปปูรองนั่งเพื่อร่วมพิธีกรรมในตอนเช้า เมื่อพระสงฆ์มาถึงก็จะมีการสวดถวายพรพระเจริญชัยมงคลคาถา จากนั้นชาวบ้านก็จะร่วมกันใส่บาตรซึ่งตั้งวางไว้ใต้ต้นมะขามใหญ่ เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้ว ก็ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์สามเณร พระสงฆ์ให้พร และประพรมนำพระพุทธมนต์ตามลำดับ

          ในระหว่างที่พระสงฆ์สามเณรฉันภัตตาหารชาวบ้านก็จะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้กับต้นมะขามใหญ่และคนในชุมชน โดยมีการนำบายศรีที่เตรียมไว้มาทำพิธี และมีการตัดกิ่งมะขามมาเสียบไว้ในบายศรีด้วย ผู้นำทางความเชื่อก็จะเป็นผู้ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ เมื่อสู่ขวัญเสร็จชาวบ้านก็จะนำฝ้ายขาวมาผูกที่กิ่งมะขามภายในบายศรีเสมือนการสู่ขวัญให้กับต้นมะขามใหญ่ และผูกข้อมือให้กันและกัน พร้อมกับอวยพรให้อยู่ดีมีสุข เมื่อทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเสร็จ ก็เป็นเวลาใกล้เคียงกับพระสงฆ์สามเณรฉันภัตตาหารเช้าเสร็จ ทุกคนก็จะนำพาข้าวของตนเองมาวางรวมกันและรับประทานอาหารเช้าร่วมกัน

          เมื่อชาวบ้านรับประทานอาหารแล้วเสร็จ พระสงฆ์ก็จะทำพิธีสวดซำฮะบ้านที่เจดีย์ทรายกลางบ้านเป็นลำดับแรก ในการทำพิธีจะมีการนำกรวดทรายที่ผ่านพิธีเจริญพระพุทธมนต์เข้าไปฝังไว้ในเจดีย์ทราย จากนั้นก็จะมีการกรวดน้ำลงบนเจดีย์ทราย เมื่อเสร็จพิธีก็จะมีการยิงปืนและจุดประทัด เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากชุมชน

          จากนั้นก็จะมีการย้ายไปประกอบพิธีซำฮะบ้านที่เจดีย์ทรายตามทางเข้าหมู่บ้านตามทิศต่างๆ ซึ่งมี 4 ทางด้วยกัน เริ่มจากทางทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศเหนือตามลำดับ ในการทำพิธีพระสงฆ์จะทำการสวดมนต์ และจะมีการนำกรวดทรายที่ผ่านพิธีเจริญพระพุทธมนต์เข้าไปฝังไว้ในเจดีย์ทราย จากนั้นก็จะมีการกรวดน้ำลงบนเจดีย์ทราย เมื่อเสร็จพิธีก็จะมีการยิงปืนและจุดประทัดเหมือนกันทุกช่องทาง เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ชาวบ้านก็จะนำกระทงหน้าวัวไปทิ้งลงแม่น้ำเลย หรือนำไปทิ้งนอกหมู่บ้าน เสมือนการนำสิ่งชั่วร้ายออกไปจากชุมชน

          ในวันขึ้น 8 ค่ำนี้ จะไม่มีการสวดเจริญพระพุธมนต์ในตอนเย็นเหมือนสามวันที่ผ่านมา เพราะถือว่าการซำฮะบ้านได้จบไปตั้งแต่ตอนเช้าแล้ว และวันนี้ยังถือเป็นวันปิดหมู่บ้าน ไม่ให้คนในออกคนนอกเข้าจนถึงพรุ่งนี้เช้า เพราะถือว่าเป็นที่ทุกคนต้องอยู่บ้าน การที่ไม่ให้ชาวบ้านออกไปไหน เพราะกลัวจะนำเอาสิ่งชั่วร้ายที่ซำฮะออกไปกลับคืนเข้าสู่หมู่บ้าน

          บุญเลี้ยงบ้านของชาวไทพวนบ้านกลาง ถือเป็นประเพณีท้องถิ่นที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของชุมชนในการกำจัดสิ่งไม่ดีหรือสิ่งชั่วร้ายออกจากชุมชน ดังที่คุณป้าบุญโฮม ด้วงบู่ เล่าว่า

          “ทำเพราะมันเป็นเหมือนงานประจำปีของเรา เพราะทำทุกปี เพื่อขจัดสิ่งชั่วร้าย ไม่ให้ส่งชั่วร้ายเข้ามาหมู่บ้านของเรา

          นอกจากนี้ประเพณีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อและแรงศรัทธาของชุมชนที่มีต่อสิ่งที่ชาวไทพวนบ้านกลางเคารพ นั่นก็คือเสาหลักบ้านหรือต้นมะขามใหญ่ ที่เด่นสง่าอยู่กลางหมู่บ้านด้วยชาวไทพวนบ้านกลางเชื่อว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ อย่างที่ป้าต้อย ทาอ่อน ได้เล่าว่า

          “ถ้าโจรจะมาปล้นหมู่บ้าน แค่เดินผ่านต้นมะขามใหญ่ โจรก็กลับใจไม่ปล้น” และทำให้เห็นความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจของชาวไทพวนบ้านกลาง ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทพวนแห่งเดียวที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำเลยที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาวไทพวนให้คงอยู่จนถึงปัจจุบัน


บรรณานุกรม

สัมภาษณ์

          1. นายใส คำพิมพ์ อายุ 78 ปี บ้านเลขที่ 105/1 หมู่ที่ 3 ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 18 มกราคม 2561.

          2. นางบุญโฮม ด้วงบู่ อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 45/1 หมู่ที่ 8 ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2561.

          3. นางจันทร์เพ็ง จันทร์พินิจ อายุ 78 ปี บ้านเลขที่ 13 หมู่ที่ 8 ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2561.

          4. นางต้อย ทาอ่อน อายุ 60 ปี บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 8 ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2561.

          5. นางวิลัย ทีนา อายุ 75 ปี บ้านเลขที่ 32 หมู่ที่ 8 ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2561.

          6. นางใส สุภาษี อายุ 72 ปี บ้านเลขที่ 33/1 หมู่ที่ 8 ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2561.