การเล่นผีบ่ากวัก

2209 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : การเล่นผีมะกวัก
เดือนที่จัดงาน : เมษายน
เวลาทางจันทรคติ : สงกรานต์ 14-16 เมษายน
สถานที่ : อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน
ภาค / จังหวัด : ภาคเหนือ
: ลำพูน
ประเภท : ประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากิน,ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง : การเล่นผีนางเหนี่ยง,การเล่นนางกวัก ไทยพวนบ้านทราย
คำสำคัญ : ผี,วิญญาณ,ล้านนา,การละเล่น,บ้านโฮ่ง
ผู้เขียน : ปณิตา สระวาสี
วันที่เผยแพร่ : 21 ก.ย. 2561
วันที่อัพเดท : 21 ก.ย. 2561

การเล่นผีบ่ากวัก ที่บ้านโฮ่ง

“บ่ากวัก” เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ใช้พันเส้นด้ายในขบวนการทอผ้าฝ้ายของคนล้านนา ทำจากเส้นตอกผิวไม้ไผ่ที่นำมาสานขึ้นรูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคติความเชื่อในขั้นตอนการสานบ่ากวักที่ไม่เหมือนการสานเครื่องใช้อย่างอื่น คือช่างผู้สานบ่ากวักจะต้องสานบ่ากวักนอกเรือนอาศัย โดยส่วนใหญ่ช่างจะไปสานในชายป่าหรือในร่องห้วยใกล้ๆ ที่พักอาศัยให้เสร็จ แล้วถึงจะนำมาเก็บไว้ในบ้าน วิธีการสานนั้นช่างจะจักตอก โดยใช้ในส่วนของผิวไม้ไผ่เท่านั้น และสานในขณะที่ไม้ยังดิบอยู่

บ่ากวักถูกนำมาเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเล่น “ผีบ่ากวัก” หรือ “ผีมะกวัก” ของคนล้านนามาแต่โบราณ จังหวัดในภาคกลางเช่น กลุ่มคนเชื้อสายไทพวนลพบุรีเรียกว่า “นางกวัก” ในบางพื้นที่ของภาคเหนือเช่น ในอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ยังประเพณีการเล่นผีบ่ากวักสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้

ส่วนใหญ่นิยมเล่นกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์(ปี๋ใหม่เมือง) ระหว่างวันที่ 14-16 เมษายน หรือตลอดเดือนเมษายน นิยมเล่นกันในตอนกลางคืน เพราะเชื่อว่าผีจะมากลางวันไม่ได้ แต่ถ้าตรงกับวันพระหรือวันพุธจะไม่เล่น เพราะเชื่อว่าผีจะไม่มา ตามความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า “วันพุธผีไม่ว่า ห้า(ห่า)ไม่กิน”  แต่ในบางชุมชนก็เล่นในตอนกลางวันก็มี เช่น ชุมชนบ้านวังหลวง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

ในแผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์บ้านมณีทอง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน สำหรับงานงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนา พ.ศ. 2559 “ศรัทธา สักการะ”  กล่าวถึงประเพณีการเล่นผีบ่ากวักไว้ว่า จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เล่นผีบ่ากวักจากชุมชนบ้านเกาะทุ่งม่าน หมู่ที่ 12 และบ้านวังหลวง หมู่ที่ 1 ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ได้อธิบายเหตุผลที่ใช้บ่ากวักมาเล่นผีบ่ากวักว่า เพราะเชื่อว่าบ่ากวักเป็นเครื่องมือที่มีคุณลักษณะพิเศษตั้งแต่ขั้นตอนการทำแล้ว จึงได้นำบ่ากวักมาเป็นตัวแทนในการสื่อถึงจิตวิญญาณต่างๆ ที่ถูกอัญเชิญให้มาประทับที่ตัวบ่ากวักได้ดี

วัสดุอุปกรณ์ในการเล่นผีบ่ากวัก มีอุปกรณ์ไม่มาก สำคัญที่สุดคือ “กวัก” และ “ไม้ชี้ดาว” นอกจากนั้นต้องเตรียมขันน้ำขมิ้นส้มป่อยและดอกซอมพอหรือดอกหางนกยูงแทนขันห้า

“กวัก” ที่จะนำมาเล่นสามารถใช้ได้ทั้งกวักที่สานใหม่หรือกวักที่มีอยู่แล้ว แต่สำคัญต้องแข็งแรง เพราะเมื่อเข้าทรงแล้วกวักจะถูกโยกไปมาอย่างแรง ถ้ากวักไม่แข็งแรงก็อาจพังได้ง่าย และใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 เมตร นำมาสอดที่รูตัวบ่ากวักทำเป็นแขน บางชุมชนนำเสื้อหม้อห้อมหรือเสื้อเชิ้ตแบบผู้ชายมาใส่แล้วใช้ผ้าขาวม้าคาดเอวไว้ บางครั้งใช้ลูกน้ำเต้าต่อทำเป็นหัวด้วย แต่ไม่ค่อยนิยมกันเพราะส่วนหัวมักจะหลุดเวลาเล่น อย่างไรก็ดีปัจจุบันกวักกลายเป็นอุปกรณ์ที่หายาก เนื่องจากชาวบ้านทอผ้ากันน้อยลง ทำให้การสานกวักใช้น้อยลงตามไปด้วย

“ไม้ชี้ดาว” ทำจากไม้ไผ่ ยาวประมาณ 3-5 เมตร ใช้สำหรับชี้ดวงดาวเพื่อเลือกเชิญดวงวิญญาณลงมาอยู่ในกวัก  ผู้เล่นจะเลือกชี้ดวงดาวที่สุกใส เพื่อให้ได้ดวงวิญญาณที่สนุกสนาน ไม่อยู่นิ่ง

ประเพณีการเล่นผีบ่ากวักที่อำเภอบ้านโฮ่ง นิยมเล่นตามลานบ้าน ผู้เล่นหรือผู้จับกวักมี 2 คน ส่วนมากเป็นผู้หญิง เนื่องจากมีความนุ่มนวล พูดจาดี เชื่อกันว่าผีชอบและเอ็นดู ที่สำคัญต้องเป็นคนขวัญอ่อน เพราะเชื่อว่าเมื่อทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณผีเข้าประทับที่ตัวบ่ากวักวิญญาณจะเข้าได้ง่ายและเร็ว

การเล่นผีบ่ากวักของชุมชนบ้านเกาะทุ่งม่าน บ้านโฮ่ง คนที่ทำหน้าเล่นผีบ่ากวักจะใช้ผู้หญิงที่เป็นม่าย ก่อนเชิญผีมาลง ผู้เชิญผีจะให้ผู้เข้าร่วมพิธีทุกคนนั่งล้อมวงกลางลานบ้าน แล้วให้ผู้ช่วยหนึ่งคนนำม้ำผ่ที่มัดกรวยดอกไม้หรือไม้ชี้ดาว นำไปยืนชี้ปลายไม้ไผ่ไปที่ดวงดาวที่มีแสงสุกสว่าง จากนั้นผู้เล่นสองคนจะจับที่ฐานตัวบ่ากวักไว้ แล้วให้ทุกคนร่วมกันร้องบทเชิญผี หรือ “ร่ำเชิญผี” ให้เข้าประทับที่ตัวบ่ากวัก โดยจะร้องไปหลายๆ รอบจนกว่าผีจะมาลง

ผีที่มาลงส่วนมากจะเป็นผีผู้ชายและเป็นผีดี ไม่ดุร้าย เมื่อผีลงมาในกวักแล้ว ก็จะแสดงอาการทำให้ตัวบ่ากวักเหมือนมีชีวิต เคลื่อนไหวได้ด้วยการโยกแกว่งไกวเหมือนกับว่าผู้ที่ถือไม่ได้ออกแรงทำเอง เมื่อผีมาลงแล้วก็จะหยุดร้อง จากนั้นผู้เล่นจะตั้งคำถามเพื่อต้องการรู้ว่าผีที่มานี้เป็นใคร โดยจะตั้งคำถามว่า “เป็นน้อยหรือเป็นหนาน” (น้อยหมายถึงผู้ชายที่เคยบวชเณร ส่วนคนที่บวชพระแล้วลาสิกขาเรียกว่าหนาน) จากนั้นก็จะเชิญผีบ่ากวักดื่มน้ำหรือเหล้าตามแต่ผีต้องการ ถือเป็นการต้อนรับ วิธีการดื่มน้ำผีบ่ากวักจะใช้ปลายแขนจุ่มลงในแก้วน้ำแทนปากหรือนำน้ำไปเทรดลงบนหัวของบ่ากวัก ตำแหน่งใกล้เคียงกับปาก จากนั้นคนจับกวักจะเชิญผีฟ้อนหรือเต้นรำเพื่อความสนุกสนานก่อนเหมือนเป็นการสร้างความคุ้นเคยกันก่อน

จากนั้นคนจับกวักก็จะชวนคุย ซักถามตามแต่ที่มีคนต้องการถาม เช่น เรื่องการเรียน การงาน เหตุการณ์บ้านเมือง เนื้อคู่ เป็นต้น ผีจะตอบด้วยการโยกตัว โขกพื้นและเขียนบนพื้นดิน คำตอบจะมีแค่ใช่หรือไม่ใช่

เมื่อผู้เข้าร่วมพิธีไม่มีคำถามแล้ว ผู้จับบ่ากวักจะกล่าวคำขอบคุณและขออภัยแทนผู้ถามคำถามทุกคน ที่อาจใช้คำพูดหรือกริยาไม่เหมาะสมหรือลบหลู่โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากนั้นจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยไปปะพรมที่ตัวบ่ากวัก เมื่อผีบ่ากวักออกไปแล้ว บ่ากวักจะนิ่ง ผู้ถือจะรู้สึกได้ว่าบ่ากวักจะเบา ไม่หนักเหมือนตอนที่ผีเข้าประทับ การเล่นผีบ่ากวักมักจะใช้เวลาเล่นราว 1-3 ชั่วโมงต่อครั้ง

ปัจจุบัน ผู้สนใจการเล่นผีบ่ากวักน้อยลง แม่สายคำ เขื่อนควบ ผู้เล่นผีบ่ากวักของบ้านโฮ่ง ทีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า

“เมื่อก่อนเวลาเล่นผีบ่ากวักจะมีคนมาดู มีทั้งคนบ้านเรา และหนุ่มๆ ต่างบ้าน เขาจะมาทุกคืนเลย มาคุยด้วย เวลาเล่นก็สนุกดี มีเพื่อนมาหลายคนมาช่วยกันเล่น หนุ่มสาวมาเยอะจะสนุก มันจะล้อกัน แซวกัน บางทีก็ถามว่าแฟนคนนี้มาไหม ถ้ามาก็ให้โขกแรงๆ สาวก็อาย เดี๋ยวนี้มันเลือนรางหายไป ไม่ค่อยมีใครสืบสาน มันคงจะหมดสิ้นกับแม่นี่แหละ เด็กๆ มันไปร่ำไปเรียนกันหมด เดี๋ยวนี้คนดูก็มีแต่เด็กๆ พวกหนุ่มๆ ไม่ค่อยมาดูแล้ว เดี๋ยวนี้เขาไม่ค่อยเชื่อกันแล้วเรื่องผี เสียดายอยู่เหมือนกัน เราทำสืบทอดมาแต่เด็กๆ ก็คงจะไม่เอาแล้ว ไปไหนกันหมดแล้ว ยุคนี้มันยุคโทรศัพท์ ยุคก้มหน้า ไม่ดูผีแล้ว”

 

ตัวอย่างบทร้องหรือ “ร่ำเชิญผี” ที่ใช้ในการขับร้องเชิญวิญญาณผีเข้าบ่ากวัก

 

ร่ำเชิญผี บ้านเกาะทุ่งม่าน หมู่ 12 ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน  คนในชุมชนส่วนใหญมีเชื้อสายยอง

“แหย่งแย่ะแหย่ง แหย่งเสือลาย ลงมาหลายหลาย

จักถวายต๋ำผ่อ ดอกซอมพอพอตี้หอประสาท

นางโอดอาดสุ่มมืดสุ่มดำ หลับฝันหันกุ๊เจ้ากุ๊ค่ำ

ขนดินทรายถวายลงเก้ง ลงบ่เสี้ยงต๋ามหมู่ในดง

               

ร่ำเชิญผี ชุมชนบ้านวังหลวง หมู่ 1 ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนโยน หรือ “โยนก”

“นางกวักเอ๋ย นางกวักเจ้าแย๊บ แย่ะหยิ้มแย่ะ

แม่เสื้อลาย ลงมาหลายหลาย จะฝายตาผ่อ

เหน็บดอกซอมพอ ห้อยหอผะสาท นางอวดอาด

สุ่มมืดสุ่มดำ หลับฝันหัน สุดเจ๊าสุดค่ำ

ย่ำดินทราย ทไหลดินเกียง นางลงบ่าเสี้ยง

เจินนางลงมาฟ้อน บ่ากวักเจ้าแย๊บ”

 


บรรณานุกรม

นุชจรี ใจเก่ง และนวลพรรณ บุญธรรม (บก.), 2559. Re-collection ย้อนทวนความหมาย ของ(ไม่) ธรรมดา เล่น 2. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

ยงยุทธ เกษมส่งสุข. พิธีกรรมความเชื่อด้านจิตวิญญาณ(ผี)ของคนล้านนา. (เอกสารอัดสำเนา).