บวชนาค ชาวมอญวัดคงคาราม

7285 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น :
เดือนที่จัดงาน : พฤษภาคม,มิถุนายน,กรกฎาคม
เวลาทางจันทรคติ : นิยมจัดงานช่วงใกล้เข้าพรรษา
สถานที่ : วัดคงคาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ภาค / จังหวัด : ภาคตะวันตก
: ราชบุรี
ประเภท : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์,ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง : บวชนาคขี่ช้าง จ.สุรินทร์,แห่ช้างบวชนาค จ.สุโขทัย,บวชนาคมอญ บ้านแพ้ว
คำสำคัญ : บวชนาค,มอญ
ผู้เขียน : นวลพรรณ บุญธรรม
วันที่เผยแพร่ : 26 ก.ย. 2561
วันที่อัพเดท : 26 ก.ย. 2561

จางอ๊ะย่าง ชุดบวชของชาวมอญวัดคงคาราม

“การอุปสมบท” หรือ “การบวชพระ” เป็นประเพณีที่ชายชาวไทยเชื้อสายมอญและผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญ เมื่อชายหนุ่มมีอายุครบ 20 ปี จะต้องเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อสึกแล้วจึงแต่งงานได้ เป็นการเปลี่ยนสถานะของชายหนุ่มไปสู่การเป็นผู้มีความรู้ในทางธรรม เป็นผู้ใหญ่และสามารถเป็นผู้นำครอบครัว

พิธีบวชของชาวมอญคล้ายกับพิธีบวชของชาวไทยทั่วไป แต่มีรายละเอียดบางอย่างแตกต่างกัน  พระอนุวัตร สุจิตฺโต ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม ต. คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี  อธิบายว่า การบวชแบบมอญที่วัดคงคารามจะมีพิธี 3 วัน แต่ก่อนหน้านั้นพ่อแม่จะต้องใช้เวลาเตรียมงานนานหลายเดือน โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายของนาคที่ต้องใช้ถึง 3 ชุด  

เครื่องแต่งกายในพิธีบวชของมอญเรียกว่า ชุด “จางอะยาง” หรือ “จางอ๊ะย่าง” มีความหมายว่า เครื่องแต่งตัว ประกอบด้วย ผ้าม่วง ผ้าสไบ 2 ผืน มีทั้งสไบสีและสไบขาว ผ้ากราบ ผ้าคลุมหัว และชฎา เครื่องแต่งกายเหล่านี้ แม่ พี่สาวหรือน้องสาวของผู้บวชจะเป็นผู้ทอผ้าและตระเตรียมให้ทั้งหมด ผ้ากราบมักเป็นฝีมือการปักของแม่ ส่วนมากปักเป็นลายดอกพุดตาลหรือดอกพิกุล ผ้าม่วงและชฎาสามารถหยิบยืมจากคนตระกูลเดียวกันได้ แต่ต้องเป็นคนที่นับถือผีเดียวกัน สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกันเท่านั้น เครื่องแต่งตัวในการบวชบางชิ้นหากคนนอกตระกูลแตะต้องจะถือว่าของนั้นไม่บริสุทธิ์

เช้าวันแรกของการบวช ผู้บวชจะสวม “ชุดรับแขก” คือนุ่งโสร่งหรือผ้าม่วง สวมเสื้อสีขาวมีผ้าขาวม้าพาดบ่า สวมสร้อยคอ กำไลข้อมือ ทัดดอกไม้ที่หู ไปขอขมาญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวหลังจากนั้นจึงอาบน้ำและโกนผม ญาติผู้ใหญ่จะผลัดกันตัดผม ใช้ขี้วัวทาหัว ขัดด้วยหญ้าแพรกแล้วทาขมิ้น

จากนั้นจะเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็น “ชุดแห่นาค” คือ นุ่งผ้าม่วงแบบจีบหน้านาง ห่มสไบหรือที่เรียกเป็นภาษามอญว่า “ด๊ด”   โดยจะเลือกสีสไบให้ตัดกับสีผ้าม่วงแล้วห่มสไบขาวทับอีกที แต่งหน้าทาปากเล็กน้อย สวมชฏา แล้วตั้งขบวนแห่นาคมาวัดเพื่อขอบวชกับเจ้าอาวาส บางบ้านใช้วิธีให้นาคขี่ม้าเข้าขบวนแห่ ระหว่างทางก็จะแวะขอขมาคนเฒ่าคนเก่และบอกกล่าวแก่สถานที่สำคัญของหมู่บ้าน เช่น อโนก(ศาลผีประจะตระกูล) พระภูมิเจ้าที่หมู่บ้าน เจดีย์บรรพบุรุษ ศาลพ่อปู่ (เจ้าเทพ) เมื่อขอบวชกับเจ้าอาวาสเรียบร้อยก็พากันกลับบ้านเพื่อทำขวัญนาค

ช่วงเย็นที่บ้านงานจะมีการสวดฉลอง “ไก” หรือ “ผ้าไตร” และทำขวัญนาค หลังจากนั้นจะมีการเลี้ยงอาหารผู้ที่มาร่วมพิธี

รุ่งเช้านาคจะสวมชุดนาคเป็นเสื้อครุยสีขาว เข้าขบวนแห่มาวัด ก่อนจะเข้าวัดจะแวะขอขมาพ่อปู่ที่ต้นโพธิ์และฝากห่อผ้าขาวบรรจุเส้นผมไว้ที่ต้นโพธิ์ จากนั้น ขบวนแห่จะเดินวนรอบโบสถ์ 3 รอบก่อนเข้าโบสถ์ เพื่อทำพิธีบวช

“ชฎา” เป็นเครื่องแต่งกายชิ้นสำคัญที่สุดในชุดจางอ๊ะย่าง เป็นของสำคัญที่นาคทุกคนจะต้องสวมพระอนุวัตรเล่าว่า เดิมชาวบ้านจะช่วยกันทำชฎาเองใช้กระดาษทำเป็นโครงแล้วประดับลวดลาย วัดคงคารามก็ได้สร้างชฎาเอาไว้ให้ชาวบ้านขอยืมใช้ แต่ตอนนี้ชฎาของวัดมีอายุเก่าแก่นับร้อยปี และชำรุดเสียหาย ทางวัดนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม ไม่ให้ยืมใช้อีก ชาวบ้านที่ต้องการจะบวชลูกหลานต้องจัดหาชฎามาเอง โดยหยิบยืมจากคนในตระกูล หรือสั่งทำจากร้านทำหัวโขนและวิทยาลัยช่างสิบหมู่

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ ความนิยมในการสวมชฎาลดน้อยลง เพราะนอกจากชฎาจะกลายเป็นของหายากแล้วยังทำให้เจ็บศรีษะเวลาสวม เพราะปัจจุบันนิยมโกนผมนาคตั้งแต่ก่อนแห่ไปขอขมา ต่างจากในอดีตที่จะตัดเป็นผมทรงดอกกระทุ่ม กระจุกผมกลางศีรษะจะช่วยรองชฎาทำให้ไม่เจ็บ รุ่งเช้าจึงโกนผมแล้วแห่นาคไปวัด เมื่อสวมชฎาแล้วเจ็บศีรษะอย่างนี้ ทำให้หลายคนเลิกสวมชฎาหรือสวมเฉพาะในขบวนแห่ขาไปเพื่อลาศาลเจ้าที่ กราบขมาลาญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้านและพบเจ้าอาวาสที่วัด  ส่วนขากลับมักจะถอดออก

การแต่งกายด้วยชุดจางอ๊ะย่างและขี่ม้าแห่นาคของชาวมอญวัดคงคารามนี้ มีที่มาจากพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช ขณะนั้นพระองค์ทรงฉลองพระองค์อย่างกษัตริย์ ทรงมงกุฎ และเครื่องประดับเพชรนิลจินดา มีเทวดาแปลงจูงม้ากัณฐกะพาเหาะออกไปทางหน้าต่างพระราชวัง ด้วยเหตุนี้ ชาวมอญวัดคงคารามจึงแต่งกายให้นาคอย่างสวยงาม สวมชฎาซึ่งเปรียบเสมือนมงกุฎของกษัตริย์ ขี่ม้าเข้าขบวนแห่ไปขอบวชที่วัด

เครื่องแต่งกายแต่ละชุดยังแสดงถึงการเปลี่ยนผ่านสถานะของผู้บวช ชุดรับแขกที่สวมในตอนเช้าแสดงสถานะของผู้ชายธรรมดา แต่หลังจากปลงผมแล้ว เปลี่ยนสถานะเป็นเจ้าชาย(สิทธัตถะ) สวมชฎาทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ชุดครุยขาวคือการเปลี่ยนสถานะเป็น “นาค” หรือผู้เตรียมบวช และเมื่อครองผ้าเหลืองแล้วเป็นการเข้าสู่เพศบรรพชิต สละทรัพย์สินมีค่าและสถานะที่เคยมีเคยเป็นทั้งปวง อธิบายแฝงคติธรรมได้ว่า แม้จะมีทรัพย์สินมากมายเพียงใด ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งของนอกกาย เมื่อจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ก็จำต้องสละสิ่งเหล่านั้นไปสู่เพศที่บริสุทธิ์

ส่วนการแต่งหน้าทาปากคล้ายการแต่งกายของผู้หญิงนั้น อาจเป็นเพราะญาติผู้หญิงเป็นผู้แต่งตัวให้นาค จึงแต่งให้อย่างที่คิดว่าสวยงามที่สุด การแต่งกายให้นาค หรือ “งานส่งนาคเข้าโบสถ์” นี้ เป็นโอกาสสำคัญที่ญาติพี่น้องผู้หญิงจะได้มีส่วนในพิธีบวช  เพราะผู้หญิงจะไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปในโบสถ์ การแต่งตัวให้นาคจึงเป็นการร่วมบุญด้วยทางหนึ่ง

ปัจจุบันชาวมอญที่วัดคงคารามยังคงยึดถือประเพณีการบวชเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าจะมีการลดขั้นตอนบางอย่างลงเพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย แต่การสวมชุดจางอ๊ะย่างยังคงยึดถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด ดังที่พระอนุวัตรสุจิตฺโตทิ้งท้ายไว้ว่า

 

“ที่นี่ยังไม่ทิ้ง ลูกหลานเขายังอยากบวชแบบเดิมอยู่ อยากให้ลูกหลานออกมาสวยสง่า เพราะงานสำคัญที่จะเจอญาติพี่น้องของคนมอญคืองานบวชกับงานศพถ้ามีลูกหลานคนเดียวก็จัดงานใหญ่ ความเคร่งครัดก็แล้วแต่ครอบครัว เช่น ตระกูลนไชยโยค เวลามีงานเขาจะมารวมกัน ทำให้พี่น้องสามัคคีกัน ชฎาเขาสั่งทำเก็บไว้เลย ไม่ต้องยืมใคร ผ้าม่วง บ้านมอญหมู่ 2 หมู่ 3 จะมีผ้าม่วงทุกบ้านหมู่ 7 มีน้อย เพราะเป็นคนจีนเยอะ ตอนมีงานบวชหมู่ (เฉลิมพระเกียรติในหลวง) ชาวบ้านก็เอาผ้าม่วงมารวมเป็นกองกลางของวัด ใช้เสร็จก็เอากลับมาซักเก็บไว้ บางผืนอายุร้อยกว่าปีคนมอญในพื้นที่วัดม่วง วัดบัวงาม วัดนครชุม ตอนบวชยังแต่งชุดจางอ๊ะย่างกันเกือบทุกบ้าน”

 

 


บรรณานุกรม

สัมภาษณ์

พระอนุวัตร สุจิตฺโต.  พิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม ต. คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี. วันที่ 24 กรกฎาคม 2558