การไหว้ผีบรรพบุรุษแบบดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง

4304 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น :
เดือนที่จัดงาน : เมษายน
เวลาทางจันทรคติ : สงกรานต์, หรือเมื่อคนในครอบครัวเจ็นไข้ได้ป่วย
สถานที่ : บ้านหนองบาง ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
ภาค / จังหวัด : ภาคตะวันตก
: กาญจนบุรี
ประเภท : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์,ประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเพื่อสิริมงคล
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง : กินข้าวห่อ
คำสำคัญ : ไหว้ผี,บ้านผี,ผีบรรพบุรุษ,กะเหรี่ยง,สงกรานต์,เจ็บป่วย
ผู้เขียน : ดำรงพล อินทร์จันทร์
วันที่เผยแพร่ : 5 พ.ย. 2564
วันที่อัพเดท : 5 พ.ย. 2564

“บ้านผี”: การไหว้ผีบรรพบุรุษแบบดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง ตำบลลิ่นถิ่น

หมู่บ้านกะเหรี่ยง บ้านหนองบาง ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีการไหว้ผีและบ้านผี พิธีกรรมนี้ถือเป็นพิธีกรรมดั้งเดิม โดยจะไหว้ผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่า หรือผีสาง โดยมักทำกันปีละครั้งช่วงสงกรานต์เพื่อขอพรให้คนครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ปัจจุบันยังประกอบพิธีกรรมไหว้ผีบรรพบุรุษบนบ้านผีอยู่ ในอดีตจะมีการประกอบพิธีกันทุกบ้าน แต่ในปัจจุบันมีเพียงบ้านไม่กี่หลังที่ยังทำกันอยู่คือ ยายตี เทพวัน (อายุ 80 ปี) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ภาวิณี สารจุม (อายุ 31 ปี) และยายสายใจ รัตน์รักษ์สมบัติ (อายุ 80 ปี) เท่านั้น

การไหว้ผีบรรพบุรุษบนบ้านผี แต่ละบ้านนั้นจะมีขั้นตอนการประกอบพิธีไม่เหมือนกัน ของที่ใช้ไหว้ ข้อห้ามในการประกอบพิธี จำนวนวันในการประกอบพิธีที่ต่างกันไปตามแต่ละบ้าน การไหว้ผีจะเรียกว่า “มากะ” ส่วนบ้านผีจะเรียกว่า “เหยชะมา”

พิธีไหว้ผีของบ้านยายตี เทพวัน

          ยายตี เทพวัน อายุ 80 ปี เป็นชาวกะเหรี่ยงที่เคยอาศัยอยู่ที่บ้านนิคุขุ ก่อนที่จะย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานในลิ่นถิ่นตั้งแต่อายุประมาณ  30-40 ปี การบูชาบ้านผีของยายตีจึงมีมาตั้งแต่สมัยนั้นโดยยายตีรับสืบทอดการทำบ้านผีมาจากแม่ของยาย ที่เคยเห็นแม่ทำมาตั้งแต่อยู่ที่บ้านนิคุขุจึงทำต่อกันมา

“...สมัยที่ยายอยู่บนนิคุขุ แต่ละบ้านก็จะมีบ้านผีและพิธีไหว้ผีกันแทบทุกเรือนแต่เพราะความยุ่งยากของพิธี ทำให้ในปัจจุบันมีไม่กี่หลังคาเรือนที่ยังทำอยู่ ส่วนบ้านอื่น ๆ ก็เปลี่ยนไปเป็นการไหว้ผีบรรพบุรุษในแบบอื่นแทน เช่น การไหว้หัวนอน...”

ในอดีตหากไหว้ผีแล้วจะไม่ไหว้หัวนอน แต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนไป  ในหมู่พี่น้องของยายตีไม่มีใครรับสืบทอดต่อ ยายตีจึงเป็นคนเดียวที่รับสืบทอดการทำบ้านผี เพราะบ้านผีจะสืบทอดโดยลูกสาวเท่านั้น ดังนั้นเมื่อยายตีทำพิธี ลูกสาวของยายจะต้องอยู่ในพิธีด้วยทุกครั้ง

ส่วนใหญ่จะทำพิธีในช่วงปีใหม่ไทยหรือสงกรานต์หรือช่วงก่อนวันปีใหม่ ซึ่งจะต้องทำปีละครั้ง หากในปีนั้นมีคนเจ็บป่วยก็สามารถทำเพิ่มได้ไม่จำกัด แต่ทุกปีจำเป็นจะต้องทำให้ได้หนึ่งครั้ง เพราะการไหว้ผีจะไหว้ผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่า หรือผีสาง เพื่อเป็นการขอพรให้คนในครอบครัวมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงตลอดปี

          ในส่วนของบ้านผีจะสร้างจากไม้ฝาก มีหลังคาเป็นสังกะสี สร้างอยู่นอกตัวบ้าน ไม่ได้มีการดูทิศหรือตำแหน่งในการสร้างบ้าน เลือกเอาจากความต้องการและความสะดวก แต่ในส่วนของการทำพิธีจำเป็นที่จะต้องดูฤกษ์ดูยามที่ดีก่อนการทำพิธี  ฤกษ์ที่ดีจะเป็นวันข้างขึ้น ทำพิธีทั้งหมด 3 วัน

บ้านยายตีจะเป็นฝั่งที่ใช้งาและข้าวในการไหว้ผีเพราะเป็นของชอบของบรรพบุรุษ  ซึ่งแต่ละบ้านก็จะแตกต่างกันไป บางบ้านอาจจะเป็นปลาหรือตัวอ้นก็ได้ตามที่บรรพบุรุษเคยทำมา บ้านของยายตีสามารถที่จะให้ลูกเขยที่แต่งงานกับลูกสาวเข้าไปทำพิธีด้วยได้  ซึ่งต่างจากพิธีบ้านอื่นที่จะไม่ให้ผู้ชายที่ไม่ใช่ลูกที่ยังไม่ได้แต่งงานเข้าพิธีเด็ดขาด และยังแตกต่างกันตรงที่บ้านยายตีไม่ได้เคร่งครัดในการรับสืบทอดบ้านผีนี้ หากลูกสาวยายไม่รับ ก็ให้บอกว่าไม่รับสืบทอดตอนทำพิธีศพเลยให้บ้านผีนี้ไปพร้อมกับยาย  พิธีกรรมการไหว้ผีก็จะจบลงที่รุ่นของคุณยาย ในขณะที่บางบ้านอาจจะมีความเชื่อเคร่งครัดกว่านี้  อาจจะต้องมีพิธีในการบอกกล่าวให้ผีบรรพบุรุษได้รับรู้

ข้อห้ามในการทำพิธี

          การทำพิธีไหว้ผีมีข้อห้ามในการทำพิธี มีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละบ้าน  โดยข้อห้ามในพิธีไหว้ผีที่สำคัญของบ้านยายตี  ประการแรกคือ ในระหว่างทำพิธีไหว้ผีห้ามคนนอกขึ้นบ้านผีตอนทำพิธีไหว้ผี หากขึ้นไปแล้วก็ห้ามออกจากบ้านผีจนกว่าพิธีจะเสร็จ  ในช่วงเวลาปกติก็จะสามารถขึ้นบ้านผีได้ ส่วนในช่วงเวลาสามวันที่ทำพิธี จะห้ามนำเหล้าเข้าบ้านเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าจะทำให้คนในบ้านไม่สบายได้  

ประการต่อมาคือห้ามกินเนื้อสัตว์ในช่วงสามวันที่ทำพิธี ยกเว้น ปลา ไข่ หรือ สัตว์ในแม่น้ำ และจะต้องกลับมานอนในบ้านผีให้ครบสามวันนับจากวันทำพิธี  ตอนกลางวันสามารถออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ  ส่วนข้อห้ามที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือในการเลือกวันทำพิธีไหว้ผี จะไม่ทำพิธีไหว้ผีในวันพระ และในวันที่มีคนตายเด็ดขาด หากในเดือนนั้นมีคนตายก็จะไม่ทำทั้งเดือน

ข้อห้ามทั้งหมดนี้หากเกิดการทำผิดเพียงข้อเดียว จำเป็นต้องเริ่มต้นทำพิธีใหม่ทั้งหมดตั้งแต่แรก เพราะถือว่าพิธีนั้นได้ทำผิดไปแล้ว ทำให้บางบ้านเลือกที่จะไม่สืบทอดต่อเพราะในปัจจุบันนั้นยากที่จะให้ลูกหลานกลับมารวมตัวกันได้  ส่วนใหญ่ลูกหลานมักออกไปทำงานในเมืองหรือตามจังหวัดอื่นกันหมด นอกจากนี้การทำพิธียังใช้เวลานาน รวมถึงพิธีไหว้ผีที่ใช้เวลานานและถ้าหากผิดพลาดก็ต้องเริ่มใหม่ ทำให้ใช้เวลามากขึ้นไปอีก  จึงมีน้อยบ้านนักที่สืบทอดการทำบ้านผีนี้ ซึ่งบ้านยายตีเป็นอีกหนึ่งบ้านที่ยังคงสืบทอดความเชื่อเรื่องบ้านผีนี้อยู่ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าพิธีกรรมนี้อยู่ในสภาวการณ์ที่พร้อมจะหายไปได้ทุกเมื่อท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวันของชาวกะเหรี่ยงบ้านหนองบางลิ่นถิ่น

ขั้นตอนการทำพิธี

          เมื่อได้กำหนดวันในการทำพิธีเสร็จเรียบร้อยแล้ว การทำพิธีนั้นจะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 5 โมงเย็นเป็นต้นไป เริ่มด้วยการเตรียมสิ่งของที่จำเป็นสำหรับใช้ในพิธี ได้แก่ ถ้วยใบใหญ่ ถ้วยใบเล็ก ภาชนะใส่น้ำ ข้าวสวย งาดำคั่ว ดอกไม้สีขาวสามดอก ใบแคบิดสามใบ และเทียนที่ทำมาจากขี้ผึ้งสามเล่ม โดยเทียนขี้ผึ้งนั้นแต่เดิมนิยมทำกันเองตามบ้าน  เริ่มจากการนำขี้ผึ้งมาลนไฟจนอ่อนนุ่ม ปั่นเป็นแท่ง และจึงนำได้ดิบใส่ไว้ตรงกลาง พักให้เย็นจนขึ้นรูปสมบูรณ์  จึงสามารถนำมาใช้ในการประกอบพิธีได้  หากไม่สามารถหาส่วนผสมมาทำเทียนขี้ผึ้งเองได้ สามารถซื้อตามร้านสะดวกซื้อเพื่อใช้แทนกันได้

จากนั้นนำข้าวสวยและงาดำคั่วมาผสมกันลงในถ้วยใบใหญ่ ประดับด้วยดอกไม้สีขาวสามดอกและเทียนขี้ผึ้งสามเล่ม ต่อมาทุกคนในครอบครัวช่วยกันนำของต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นไปบนบ้านผี เพื่อทำพิธีในขั้นต่อไป

ผู้ที่เปรียบเสมือนประธานในการดำเนินกิจกรรมในพิธีนั้นคือฝ่ายหญิงที่อาวุโสที่สุด ซึ่งในขณะนี้คือยายตี โดยเมื่อยายตีจัดแจงสิ่งที่ต้องใช้ทำพิธีเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มการทำพิธีโดยการแบ่งข้าวจากถ้วยใบใหญ่ใส่ลงในถ้วยใบเล็ก พร้อมทั้งย้ายดอกไม้และเทียนลงไปในถ้วยใบเล็กด้วย จากนั้นจึงแบ่งข้าวอีกจำนวนหนึ่งลงบนใบแคบิดทั้งสามใบอย่างเท่า ๆ กัน

ในขณะที่ทำการแบ่งข้าว ยายตีและทุกคนในครอบครัวจะต้องท่องบทสวดไปพร้อมกันด้วย เป็นการเชิญผีบรรพบุรุษและสัมภเวสีให้มารับเครื่องเซ่นเหล่านี้ และขอให้คนในครอบครัวมีสุขภาพที่แข็งแรง เมื่อแบ่งข้าวเสร็จสรรพ ยายตรีจะเติมน้ำเล็กน้อยลงไปในถ้วยใบเล็ก ที่ได้รับการแบ่งข้าวพร้อมกับประดับดอกไม้และเทียนไขเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจึงนำไปวางที่ตอไม้นอกบ้านผี เพื่อเป็นการถวายเครื่องเซ่นแก่ผีบรรพบุรุษ เมื่อกลับมาที่บ้านผี ยายตีจะเทน้ำจากกระบอกน้ำที่เตรียมมารอบข้าวที่ถูกแบ่งลงใบในแคบิดทั้งสามใบเป็นจำนวนวนสามรอบ เมื่อครบแล้วจึงห่อข้าวแล้วทิ้งลงไปที่ใต้ถุนบ้าน เป็นการถวายเครื่องเซ่นให้แก่สัมภเวสี

ขั้นตอนต่อมาทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันรับประทานข้าวที่เหลืออยู่ในถ้วยใบใหญ่อย่างละเท่า ๆ กันจนหมดไม่ให้เหลือข้าวแม้แต่เมล็ดเดียว และจบพิธีด้วยการที่ทุกคนใบครอบครัวเข้านอนในบ้านผีจนสว่างให้ครบสามคืน โดยในสองวันที่เหลือทุกคนจะสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติเพียงแต่ต้องเข้านอนในบ้านผีทุกคนในครอบครัว 

การทำพิธีไหว้ผีนั้นเป็นพิธีกรรมที่สำคัญมาก ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด การทำผิดขั้นตอนแม้เพียงนิดเดียวจะถือว่าผิดผี ซึ่งทำให้ต้องเริ่มทำพิธีใหม่ตั้งแต่ต้น เชื่อกันว่าหากผิดผีแล้วไม่ทำพิธีใหม่ตั้งแต่เริ่มต้นหรือไม่ได้ทำพิธีในปีนั้น ๆ จะส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่อาวุโสที่สุดในครอบครัว ซึ่งทำให้มีอาการเจ็บป่วยหรืออาจถึงขั้นร้ายแรงอย่างการเสียชีวิตได้

พิธีไหว้ผีบ้านยายสายใจ

บ้านของยายสายใจและสามีอาศัยอยู่ด้วยกันพร้อมลูกหลานอีกหลายคน ยายสายใจจะอยู่อาศัยหลับนอนบนบ้านผี ซึ่งเป็นบ้านไม้ฟากใต้ถุนสูงประมาณ 50 เซนติเมตร บนบ้านจะมีเตียงนอน ข้าวของเครื่องใช้ เหมือนบ้านเรือนไม้ไผ่ทั่วไป เมื่อถึงวันทำพิธีไว้ผีก็จะเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อให้ลูกหลานทุกคนมากกว่า 10 ชีวิต ได้ขึ้นมาประกอบพิธีและนอนหลับด้วยกัน

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำพิธีก็คือ หินก้อนเส้า 3 ก้อน ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “เลอสู้คอง” ใช้สำหรับก่อไฟเพื่อทำอาหาร หุงข้าว และย่างปลากับบนบ้านผี อันเป็นส่วนหนึ่งของพิธีไหว้ผี เพราะสมาชิกในครอบครัวจะไม่สามารถลงจากบ้านผีได้เลยขณะทำพิธีอยู่ถึง 3 วัน 2 คืน  ก้อนเส้าสามก้อนลักษณะนี้ยังได้พบบนเรือนที่พักกะเหรี่ยงจำลองที่ชุมชนได้สร้างขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างเรือนกะเหรี่ยงในอดีตให้ผู้มาเยือนได้เห็นและสามารถพักอาศัยชั่วคราวอยู่อีกด้วย

บ้านผีนี้จะไหว้กันแค่ลูกสาว ลูกเขย หลานที่เกิดแต่ลูกสาว และลูกชายที่ยังไม่แต่งงาน และหากลูกชายแต่งงานก็ต้องงไปเข้าพิธีไหว้ผีบ้านผีฝั่งภรรยา  ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อว่าชาวกะเหรี่ยงทองผาภูมิถือผีฝ่ายแม่เป็นสำคัญ และผู้หญิงที่อาวุโสที่สุดในครอบครัวต้องเป็นผู้นำพิธีไหว้ผี และเป็นดั่งผู้ที่เชื่อมโยงระหว่างลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่กับบรรพบุรุษที่ได้ตายไปแล้ว

พิธีกรรมไหว้ผีของบ้านยายสายใจนี้ หากลูกหลานมาไม่ครบจะไม่สามารถประกอบพิธีได้เลย สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว แม้จะไปเรียนหรือทำงานในที่ห่างไกลก็ตาม

ขั้นตอนในการทำพิธีไหว้บ้านผี

  1. ใช้เวลาในการทำพิธี 3 วัน 2 คืน โดยจะนอน 1 คืน ในบ้านผี แล้ววันรุ่งขึ้นจึงออกไปจับปลา
  2. เมื่อไปจับปลาหาปลา ต้องเดินหันหลังลงบันไดจากบ้านผี และให้คนจับปลาเดินจนลับสายตาไปก่อน ลูกหลานภายในบ้านผีจึงจะสามารถลงมาจากบ้านได้ การจับปลาจะใช้คนในครอบครัว 1-2 คน ส่วนคนที่เหลือในครอบครัวนอนอยู่ที่บ้านผี
  3. จากนั้นนำน้ำใส่ขันหรือใส่ถ้วย แล้วนำใบแคบิดมาห่อสิ่งที่เตรียมมา ประกอบด้วย ข้าว 1 ก้อน และ ปลา 1 ตัว ทำ 2 ห่อ (ให้ตาทวด 1 ห่อและยายทวด 1 ห่อ) จึงนำน้ำจากขันหรือจากถ้วยมาราดรอบๆ  ให้ทั่ว 3 รอบ และเชิญบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่น และขอให้ดูแลลูกหลาน มีลูกหลานเพิ่มขึ้น มีสุขภาพแข็งแรง
  4. เมื่อกินอาหารจนหมด จะนำห่อข้าวและปลาที่ห่อแล้วไปเสียบไว้ตรงหลังคา ทิ้งไว้จนถึงการทำพิธีในปีถัดไป

ข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามในการประกอบพิธีบ้านผี

  • เวลาหุงข้าวย่างปลา ครอบครัวต้องอยู่ร่วมกัน
  • ห้ามเข้าห้องน้ำ ห้ามซื้ออะไรมากิน
  • ห้ามพูดว่า “ก้างปลาติดคอ กินไม่อิ่ม หรือกินไม่พอ” ทำเท่าไหน กินเท่านั้น และต้องกินให้หมด
  • ไม่ให้นำสิ่งของออกนอกบ้านและไม่ให้นำสิ่งของเข้ามาในบ้าน
  • ผู้สูงอายุเป็นคนกล่าวเชิญและขอผีบรรพบุรุษเพียงคนเดียว
  • ห้ามนำเหล้าขึ้นบ้านเฉพาะตอนทำพิธี เพราะเชื่อว่าจะผิดผี
  • เนื้อ หมู ไก่ ถ้ามีของเหล่านี้อยู่ภายในบ้านจะสามารถนำมาทำอาหารกินได้ แต่จะซื้อมากินไม่ได้จนกว่าจะจบพิธีบ้านผี
  • ถ้าหญิงสาวท้องก่อนแต่งแล้วไม่บอกคนในครอบครัวก่อนทำพิธี จะส่งผลเสียต่อผู้ที่อายุมากที่สุดภายในบ้าน เชื่อว่าจะทำให้ไม่สบาย เจ็บป่วย อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

วิธีขอขมาในการเลิกพิธีกรรมไหว้บ้านผี

          ในกรณีที่ไม่ต้องการสืบต่อการประกอบพิธีบ้านผี  ผู้ทำพิธีจะทำห่อข้าว บอกกล่าวขอขมาว่าไม่รับทำต่อแล้ว เพราะลูกหลานออกไปทำงานอยู่ห่างไกลกัน ทำให้ไม่สามารถมารวมตัวกันได้อย่างครบถ้วน โดยก่อนที่ผู้ทำพิธีคนสุดท้ายจะสิ้นใจ(ยายสายใจ) ให้ลูกสาวที่จะต้องสืบทอดเอาดอกไม้มาไหว้ บอกกล่าวว่า “แม่ ผีนี้ ไม่เอาแล้วนะ แม่เอาไปเลย” ก็เป็นอันว่าไม่ต้องทำพิธีไหว้ผีอีกต่อไป


บรรณานุกรม

ดำรงพล  อินทร์จันทร์. 2562. รายงานโครงการวิจัยพลวัตชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงภาคตะวันตกของไทย ระยะที่ 1พื้นที่ศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ;ชุดโครงการศึกษาวิจัยพลวัตของชุมชนชาติพันธุ์เพื่อการสร้างแผนที่วัฒนธรรมมีชีวิต ปีที่ 1 (พ.ศ.2562). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

บ้านหนองบาง ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
ละติจูด = 14.56370 ลองติจูด= 98.76051