ชื่อเรียกอื่น | : |
---|---|
เดือนที่จัดงาน | : เมษายน |
เวลาทางจันทรคติ | : สงกรานต์ |
สถานที่ | : บ้านจันทราราม หมู่ 14 อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี |
ภาค / จังหวัด | : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อุดรธานี |
ประเภท | : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์,ประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเพื่อสิริมงคล |
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง | : |
คำสำคัญ | : สงกรานต์,ไทยพวน |
ผู้เขียน | : รชพรรณ ฆารพันธ์ |
วันที่เผยแพร่ | : 15 ธ.ค. 2564 |
วันที่อัพเดท | : 15 ธ.ค. 2564 |
ชาวพวน อำเภอบ้านผือ อุดรธานี ฉลองปีใหม่ในช่วงสงกรานต์ หรือวันที่ 13 เดือนเมษายนเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน ด้วยการทำบุญ เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เนื่องจากเชื่อว่าการข้ามปีนั้นคือสังขารข้าม เข้าสู่อายุดวงชะตาใหม่ จึงให้ความสำคัญการทำบุญเป็นอย่างมาก และอาหารต่างๆ ที่นำไปทำบุญก็เป็นอาหารที่ชาวบ้านคัดสรรอย่างดีและร่วมแรงร่วมใจกันมาทำบุญ หนึ่งในนั้นคือ “ข้าวงาโค”
ประเพณีการกวนข้าวงาโคทำในช่วงสงกรานต์ เนื่องจากชาวพวนหรือไทยพวนบ้านผือส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ปลูกข้าว จึงนำข้าวเหนียวนึ่งมากวน ใส่น้ำใบเตย ใส่ส่วนผสมที่เป็นพืชที่มีในท้องถิ่น และทำส่วนผสมทุกอย่างให้สุก เช่น งาขาว งาดำ เผือก มัน ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ลูกเดือย ข้าวโพด เม็ดบัว มะพร้าว น้ำตาล เกลือ กวนเข้าด้วยกันเมื่อสุกแล้ว นำใส่ภาชนะ (ถาดหรือกระด้ง) รสชาติข้าวงาโค จะหอม หวาน มัน
ชาวบ้านจะมาช่วยกันกวนข้าวงาโคที่วัด ครั้งละประมาณ 2-3 กระทะใหญ่ๆ ด้วยเตาถ่าน แต่ละคนจะนำวัตถุดิบที่ใช้กวนข้าวงาโคมาร่วมกัน เช่น ข้าว ถั่ว มะพร้าว งา น้ำตาล ฟืน ถ่าน ฯลฯ วันที่กวนข้างงาโคนั้น เช่น หากวันสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 14 15 เมษายน จะเริ่มมีการกวนข้าวงานโคในวันที่ 15 และ 16 เมษายน
“ข้าวงาโค คือข้าวที่นางสุชาดาไปถวายพระพุทธเจ้า เราจะกวนตอนหลังสังขานต์คาม สังขานต์คาม คือหลังเมษาก็คือสงกรานต์ ถ้าสงกรานต์ของไทยพวนเรียกว่าสังขานต์คาม เพราะว่ามันไม่ใช่มกราคม มกราคมจะเป็นปีสากลแต่อันนี้คือปีของไทยพวน ปีของพวกแม่คือวันที่ 13 เมษายน มันจะเป็นปีใหม่ พอ14 เมษายนจะสังขานต์คามไปเลยไทยพวนจะนับแบบนั้น ทีนี้พวกเขาอยากถวายพระแต่จะทำอะไรถวาย เขาก็เลยทำข้าวงาโคกัน ข้าวงาโคมีส่วนผสมหลายอย่าง คนนี้มีถั่ว คนนี้มีงา คนนี้มีข้าว เอาของหลายๆ คนมารวมกันแล้วก็จะกวน กวนไม่เกินวันที่ 20 เมษายน จะทำทุกปีจนถึงเดี๋ยวนี้พวกแม่ก็ยังทำอยู่ เอาไปถวายพระอย่างน้อยก็ 20 วัดที่ไปถวาย พ่อแม่พาทำมา พวกแม่ก็ไม่ทิ้ง คือก็ต้องทำต่อไป ข้าวงาโคจะมีที่เดียวคือไทยพวนของชมรมนี้ บ้านอื่นทำจะเป็นข้าวเหนียวแดงไม่เหมือนของพวกแม่ ถ้าเป็นของชมรมไทยพวนและไทยพวนแท้ๆ จะมีส่วนผสมแบบนี้เพราะเราหาได้” (นางลาวัลย์ พร้าวหอม. 2561 : สัมภาษณ์)
เมื่อทำข้าวงาโคเสร็จแล้ว จะนำไปถวายพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ในบริเวณหมู่บ้านตนเองและใกล้เคียงในช่วงตอนเย็น โดยจะมีการแห่ข้าวงาโครอบโบสถ์ 3 รอบ ระหว่างนั้นจะมีการนำน้ำเพื่อไปสรงน้ำพระและรดน้ำกันทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่นำข้าวงาโคไปถวายพระ และฝ่ายต้อนรับ เพื่อเป็นการอวยพรให้มีความสุขความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป
หมู่บ้านที่อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการกวนข้าวงาโค ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ หมู่บ้านจันทราราม หมู่ 14 อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยยึดถือประเพณีกวนข้าวงาโคเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปัจจุบันการกวนข้าวงาโคได้ขยายกลายมาทำเวลางานบุญอื่นๆ อีกด้วย
รชพรรณ ฆารพันธ์ และปณต สุสวรรณ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ พลวัตและการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์พวน. ศูนย์เรียนรู้ชาติพันธุ์ไทในล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พฤษภาคม 2562.