ชื่อเรียกอื่น | : |
---|---|
เดือนที่จัดงาน | : พฤษภาคม,มิถุนายน |
เวลาทางจันทรคติ | : ปลายเดือน 8 ถึง ต้นเดือน 9 (เหนือ) |
สถานที่ | |
ภาค / จังหวัด | : ภาคเหนือ |
ประเภท | : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน |
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง | : |
คำสำคัญ | : ,เสาอินทขิล,เสาสะดือเมือง,อินทขิล, เสาหลักเมือง |
ผู้เขียน | : ธันวดี สุขประเสริฐ |
วันที่เผยแพร่ | : 15 ก.พ. 2559 |
วันที่อัพเดท | : 1 ก.ย. 2559 |
อินทขิล หมายถึง เสาหรือหลักหน้าประตูเมือง หรือหลักเมือง ในหนังสือตำนานเมืองเชียงใหม่เรียกว่า สะดือเมือง หรือ เสาอินทขิล สำหรับเสาหลักเมืองนครเชียงใหม่ ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณวัดเจดีย์หลวง (โชติการาม) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระอารามที่สถาปนาขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าลักขบุราคม (แสนเมืองมา) กษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์มังราย วัดนี้ได้รับพระราชทานนามว่า วัดโชติการาม เป็นพระอารามหลวงที่ตั้งอยู่กลางเมือง มีพระเจดีย์ใหญ่กว่าวัดทุกวัดในนครพิงค์ ซึ่งได้รับการสร้างเสริมในรัชสมัยพระเจ้าติโลกมหาราช ใน พ.ศ. 1995-2030 และเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตยาวนานถึง 80 ปี
พระอารามแห่งนี้ได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1955 เสาอินทขิล ตั้งอยู่ในมณฑปจตุรมุขวิหาร ด้านใต้เป็นเสาที่ก่ออิฐถือปูนและประดับลวดลายสวยงามตั้งอยู่ใจกลางมณฑป ใช้เป็นที่วางพานครูและเครื่องสักการะกราบไหว้
เสาอินทขิลหรือเสาสะดือเมืองนี้แต่เดิมประดิษฐานอยู่ ณ วัดสะดือเมือง หรือวัดอินทขิล ซึ่งเป็นที่ตั้งหอประชุมติโลกราชข้างศาลากลางเก่าและอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางนครเชียงใหม่ จึงมีชื่อว่า “สายดือเมือง” โดยเรียกชื่อตามลักษณะของมนุษย์ที่นำเอาสะดือเป็นตรงกลางของร่างกาย ชื่อนี้จึงมีความหมายดีมากในการกำหนดสถานที่ตรงกลางนครเป็นวัดของชาวเมือง ซึ่งเรียกว่า “วัดสะดือเมือง” หรือ “วัดอินทขิล”
ในสมัยพระเจ้ากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ ได้ย้ายเสาอินทขิลจากวัดนี้ไปไว้ที่วัดโชติการาม (เจดีย์หลวง) โดยบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2343 เสาอินทขิลเป็นเสาหลักเมืองคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ เป็นที่เคารพสักการะและนับถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าเป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษในอดีต เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของนครเชียงใหม่ มีประเพณีเข้าอินทขิลเพื่อกราบไหว้สักการะทุกปี เรียกว่า ประเพณีเข้าอินทขิล
ในสมัยโบราณ จะทำพิธีสักการะบูชาเสาอินทขิลเป็นประจำทุกปี แต่ทำตอนปลายเดือน 8 เหนือ ถึงต้นเดือน 9 เหนือ (เดือน 6-7 ภาคกลาง) ในวันเริ่มเข้าอินทขิลนั้น ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลาย ทั้งเฒ่าแก่หนุ่มสาวจะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย ใส่ขันพานหรือภาชนะไปทำการโสรจสรง สักการะบูชา พิธีดังกล่าวมักเริ่มทำในวันจันทรคติ แรม 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ และวันสุดท้ายทำพิธีออกอินทขิลและบูชาสืบชะตาเมืองในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ เป็นประจำทุกปี จึงเรียกกันในหมู่ชาวเมืองเชียงใหม่ว่า “เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก”
ในการทำพิธี บรรดาพ่อหมอพฤฒาจารย์ทั้งหลายจะมาสักการะครู ณ ที่นี้ ถือเป็นเสาเป็นหลักแห่งการยกครู ไหว้ครู ดังนั้น เมื่อพ่อครูทำการไหว้สักการะเสาอินทขิลแล้ว ครูซอทั้งหลายจะเอาลูกศิษย์มาซอเพื่อเป็นเครื่องสักการะแก่ดวงวิญญาณของบรรพบุรษต่อฮาฮัก (อารักษ์) เจนบ้านเจนเมือง ส่วนผู้ชายจะฟ้อนหอกฟ้อนดาบ ถวายเทพาอารักษ์ เสื้อบ้านเสื้อเมืองหรือเจนบ้านเจนเมือง
ในสมัยเจ้าผู้ครองนคร ก่อนจะทำพิธีเข้าอินทขิล จะมีเจ้าหน้าที่ไปขอเรี่ยไรสิ่งที่จะนำมาประกอบอาหารจากประชาชนในตลาดเมืองใหม่ เพื่อนำไปปรุงอาหารเป็นเครื่องสังเวยเทพยาดาอารักษ์ เจนบ้านเจนเมือง และบูชากุมภัณฑ์ที่เฝ้ารักษาอินทขิลอยู่นั้น และใช้อาหารเลี้ยงดูแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ไปร่วมงานที่มาจากชนบท มาพักค้างอยู่ระหว่างงานเข้าอินทขิล นอกจากอาหารพวกผักแล้วจะมีอาหารพวกเนื้อสัตว์เป็นตัว ๆ เช่น หมู วัว ควาย เป็ด ไก่ เป็นต้น
นอกจากการเซ่นสรวงสังเวยแล้ว ก็มีการเชิญเจ้านายลง เรียกว่า “อาฮักเจ้าหลวงคำเขียว เจ้าหลวงคำแดง ดอยอ่างสลุงเชียงดาว” มาเข้าทรงม้าขี่ (คนทรง) และพวเจ้านายผู้ปกครองนครและพระญาติวงศ์ทั้งหลายจะถามถึงความเป้นไปของบ้านเมืองว่าจะร้ายดีต่อไปอย่างไร ฟ้าฝน ข้าวปลา ธัญญาหารจะขาดแคลนหรือสมบูรณ์หรือไม่เพียงไร ที่นั่งหรือม้าขี่ (คนทรง) ก็จะพยากรณ์ให้ทราบ เมื่อทราบจากเจ้านาย (เจ้าเข้าทรง) ว่าบ้านเมืองมีชะตาไม่สู้ดีก็จะทำพิธีทางไสยศาสตร์แก้ไขและปัดเป่าให้เบาบางลงด้วยการทำพิธีสืบชะตาเมือง คือพิธีต่ออายุเมือง และก่อนจะทำพิธีเข้าอินทขิลนั้จะมีการเลี้ยงผีปู่ย่า และผีปู่ย่าดอยคำ ก่อนด้วย
พิธีกรรมดังกล่าวนี้ ในสมัยเจ้าผู้ครองนครเป็นงานใหญ่ และทำกันเป็นประเพณีติดต่อกันมาทุกปี ต่อมาถึงสมัยสงครามเอเชียบูรพา ไม่สะดวกในการจัดพิธีจึงเลิกไป หลังสงครามเลิกแล้ว ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ได้รื้อฟื้นจัดประเพณีขึ้นมาอีก โดยมีพิธีแห่พระพุทธสิหิงค์ พระเสตังคมณี พระดับภัย เป็นต้น ในวันแรกแห่พิธีเข้าอินทขิลเพื่อเป็นการบอกกล่าวแก่เทวดา เสื้อบ้าน เจนเมือง ให้รื่นเริงยินดีและช่วยคุ้มครองพระนครให้รุ่งเรืองต่อไป ที่ทำกันอยู่สมบูรณ์แบบทุกปี คือ พิธีบูชาเสาอินทขิล ส่วนพิธีกรรมที่เห็นว่าไม่จำเป็นก็ยกเลิก ประเพณีอินทขิลถือว่าต้องการให้คุ้มครองและสร้างความร่มเย็นเป็นสุขแก่ปวงชน ก่อให้เกิดความรักสามัคคีของประชาชนชาวเมือง ซึ่งทุกคนจะพากันไปร่วมในงานนี้จนเสร็จงาน
การบูชาอินทขิล
เครื่องบูชามี ข้าวตอกดอกไม้ และเทียน 8 สวย พลู 8 สวย ดอกไม้เงิน 1 ผ้าขาว 1 รำ ช่อขาว 8 ผืน มะพร้าว 2 แคนง กล้วย 2 หวี อ้อย 2 เล่ม ข้าว 4 ควัก (กระทง) แกงส้ม แกงหวาน อย่างละ 4 โภชนะอาหาร 7 อย่าง ใส่ขันบูชา
การบูชาต้นยางหลวง ในวัดเจดีย์หลวง
เครื่องบูชามี เทียน 2 คู่ พลู 2 สวย ดอกไม้ 2 สวย หมาก 2 ขด 2 ก้อม ช่อขาว 4 ผืน หม้อใหม่ 1 ใบ กล้วย 1 หวี ข้าว 4 ควัก แกงส้มแกงหวานอย่างละ 4 โภชนะอาหาร 7 อย่าง การบูชากุมภัณฑ์ 2 ตน ในวัดเจดีย์หลวง ให้แต่งหอไม้อ้อต้นละหอ เครื่องบูชามีเทียนเงิน 4 เล่ม เทียนคำ 4 เล่ม ช่อขาว 8 ผืน ช่อแดง 8 ผืน ฉัตรขาว 2 ฉัตรแดง 2 มะพร้าว 4 แคนง กล้วย 4 หวี อ้อย 4 เล่ม ไหเหล้า 4 ไห ปลาปิ้ง 4 ตัว เนื้อสุก 4 ชิ้น เนื้อดิบ 4 แกงส้มแกงหวานอย่าง 4 เบี้ย 1300 หมก 1000 ผ้าขาว 1 รำ อาสนะ 12 ที่
การบูชาช้าง 8 ตัว ที่พระเจดีย์หลวง
ช้างแต่ละตัวมีเครื่องบูชาดังนี้ เทียนเงิน 1 คู่ เทียนคำ 1 คู่ ฉัตรแดง ช่อแดง 1 มะพร้าว 1 แคนง กล้วย 1 หวี อ้อย 1 เล่ม หญ้า 1 หาบ หมาก 1 ขด 1 ก้อม พลู 1 เล่ม ข้างตอกดอกไม้แดง 7 อย่าง ใส่ขันบูชา
พิธีใส่ขันดอก
เป็นพิธีที่กระทำต่อ จากการจุดธูปเทียนบูชาอินทขิล ทางวัดจะเตรียมพานเรียงไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้ประชาชนนำดอกไม้ที่ตนเตรียมมาไปวาง ในพาน (ขัน) จนครบ เหมือนกับการใส่บาตรดอกไม้ การถวายดอกไม้เป็นการแสดงความเคารพบูชาแก่เสาอินทขิล กุมภัณฑ์ ฤาษี และพระรัตนตรัย
พิธีสรงน้ำพระเจ้าฝนแสนห่า
พระเจ้าฝนแสนห่า คือ พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดช่างแต้ม ซึ่งอยู่ใกล้ๆ วัดเจดีย์หลวง ชาวเชียงใหม่เชื่อว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธานุภาพบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เทศบาลนครเชียงใหม่ จึงอาราธนามาประดิษฐานบนรถแห่ไปตามถนนสำคัญ ใน เมืองให้ประชาชนสรงน้ำในวันแรม 12 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็นวันเริ่มงานประเพณี หลังจากนั้นก็นำมาประดิษฐานไว้วงเวียนหน้าพระวิหารวัดเจดีย์หลวงทุกวันตลอดงานพิธีเข้าอินทขิล เพื่อให้ประชาชนที่ไปร่วมงานได้สรงน้ำระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้อย่างทั่วถึง
พิธีสืบชะตาเมือง
พิธีสืบชะตาเมืองเป็นพิธีที่กระทำหลังจากสิ้นสุดการบูชาเสาอินทขิลแล้วระยะหนึ่ง แต่ก็ยังคงอยู่ในช่วงครึ่งแรกของเดือน 9 เหนือ ประเพณีมีขึ้นเนื่องจากเมืองเชียงใหม่สร้างชื้นตามหลักโหราศาสตร์ และการเลือกชัยภูมิ ตลอดจนมหาทักษาเพื่อให้ได้ชัยภูมิ เวลา และฤกษ์ที่เป็นมงคล อันจะบันดาลให้เมืองเจริญรุ่งเรืองสืบไป การทำบุญสืบชะตาเมือง จะช่วยให้เคราะห์ร้ายลดลงและสถานการณ์ต่าง ๆ กลับดีขึ้นไป การสืบชะตาของชาวล้านนาเทียบได้กับการทำบุญวันเกิด แต่มีพิธีการค่อนข้างละเอียดถี่ถ้วน โดยมีความเชื่อว่า หากกระทำแล้วจะช่วย สืบ อายุให้ยืนยาวต่อไป พิธีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ จะกระทำในตัวเมือง 10 แห่ง คือที่กลางเวียง อันเคยเป็นสะดือเมือง ประตูทั้ง 5 ประตู และแจ่ง เวียง (มุมเมือง) ทั้ง 4 แจ่ง เมื่อมีพระบรมราชานุสรณ์สามกษัตริย์ มาประดิษฐานที่หน้าศาลากลางเก่า ตั้งแต่ พ.ศ.2526 การทำพิธีสืบชะตา ณ กลางเวียง ก็กระทำที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พิธีสืบชะตาเมืองซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ พ.ศ.2511 นั้น จะกระทำขึ้นพร้อม ๆ กันทุกจุดในเวลา 07.00 นาฬิกา
สุนีย์ ประสงค์บัณฑิต. ประเพณีสิบสองเดือน : พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546.
พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล). ตำนานอินทขิล (ฉบับสมโภช 600 ปี พระธาตุเจดีย์หลวง). เชียงใหม่ : บุณย์ศิริงานพิมพ์, 2538.
http://library.cmu.ac.th/ntic/knowledge_show.php?docid=12