ชื่อเรียกอื่น | : บุญข้าวหลาม,บุญข้าวจี่ |
---|---|
เดือนที่จัดงาน | : มกราคม,กุมภาพันธ์ |
เวลาทางจันทรคติ | : ขึ้น 3 ค่ำ 10 ค่ำ 15 ค่ำ เดือน 3 |
สถานที่ | : อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี : ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมืองแพร่ : อ.ดอนพุด จ.สระบุรี : อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี |
ภาค / จังหวัด | : ภาคกลาง : ภาคเหนือ : ลพบุรี : แพร่ : สระบุรี : สิงห์บุรี |
ประเภท | : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์,ประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากิน |
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง | : กำเกียง |
คำสำคัญ | : ไทยพวน |
ผู้เขียน | : รชพรรณ ฆารพันธ์,ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ |
วันที่เผยแพร่ | : 25 ก.พ. 2559 |
วันที่อัพเดท | : 14 ธ.ค. 2564 |
ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีโบราณสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์พวน ที่กระทำตั้งแต่อยู่เมืองเชียงขวาง (เมืองพวน)ประเทศลาว เพื่อบูชาผีฟ้าพญาแถน และผีเทวดาอารักษ์ทั้งหลาย ให้ฟ้าฝนอุดมสมบูรณ์ตกต้องตามฤดูกาล และเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยในการดำรงชีวิต ดังมีคำกล่าวว่า “กำเจียงบ่ให้ฟ้าผ่า กำฟ้าบ่ให้เสือขบ” เมื่อถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองนครแพร่เมื่อ พ.ศ. 2377 ก็ยังคงปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันเป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัดแพร่
คำว่า “กำ” คือ การสำรวมหรือการงดเว้นด้วยความเคารพ เมื่อถึงวันกำฟ้าทุกคนภายในหมู่บ้านต้องหยุดการทำงานทุกอย่าง เช่น ทำไร่ ทำนา ทอหูก ปั่นด้าย ตีเหล็ก ตำข้าว ตักน้ำ ผ่าฟืน ซักผ้า ถางหญ้า และพรวนดิน เป็นต้น เครื่องมือในการทำมาหากินก็ต้องเก็บเข้าที่ให้หมด คงเหลือแต่อุปกรณ์ในการหุงหาอาหารในแต่ละมื้อเท่านั้น เชื่อว่าหากผู้ใดไม่เชื่อฟังฟ้าจะผ่าบุคคลผู้นั้น กำฟ้าจะเริ่มตั้งแต่เช้าไปจนถึงค่ำ ผู้เฒ่าผู้แก่ของแต่ละครอบครัวจะพูดบอกกับสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ว่า “สูเอย กำฟ้าเน้อ อยู่สุข ขออย่าแซว อยู่ดีมีแฮงเด้อเอ้อ”
พิธีกำฟ้าแบ่งออกเป็น 3 ครั้ง ดังนี้
ครั้งแรก วันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 พวน (เดือน 5 เหนือ ประมาณเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์) และจะเริ่มกำฟ้าตั้งแต่ช่วงหลังรับประทานอาหารเย็นของวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 พวน
วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 พวน เริ่มตั้งแต่รุ่งเช้าพระอาทิตย์ขึ้นประกอบพิธีทำบุญตักบาตรที่วัด อาหารคาวหวานที่นิยมนำไปทำบุญที่วัด เช่น แกงอ่อม แกงฮังเล ลาบ ขนมเทียน ขนมชั้น ข้าวแตน และข้าวแคบ เป็นต้น เมื่อทำบุญฟังพระธรรมเทศนาเสร็จแล้ว ช่วงสายนำเครื่องนอนเสื้อผ้าไปตากไปซักที่แม่น้ำยม ระหว่างที่รอเครื่องนอนเสื้อผ้าที่ตาก ก็จะพากันจับกุ้งหอยปูปลา บางคนก็สอยไข่มดแดงเพื่อเตรียมทำอาหารมื้อเที่ยงและมื้อเย็น ช่วงบ่ายเครื่องนอนเสื้อผ้าแห้งก็กลับบ้าน หลังรับประทานอาหารมื้อเย็นแล้ว ช่วงกลางคืนจะมีการละเล่นต่างๆ เช่น ผีนางด้ง ผีไต่สาว และไก่หมุน เป็นต้น ไปจนถึงเวลาอาหารมื้อเย็นของวันขึ้น 4 ค่ำ จึงพ้นกำสิ้นสุดเวลากำฟ้าในครั้งแรก
ครั้งที่ 2 เริ่มวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 (เดือน 5 เหนือ ประมาณเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์) เริ่มกำฟ้าตั้งแต่รับประทานอาหารมื้อเย็น ปฏิบัติเช่นเดียวกับครั้งแรก จนกระทั่งพ้นกำพิธีกำฟ้าสิ้นสุดหลังจากรับประทานอาหารมื้อเที่ยงของวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3
ครั้งที่ 3 เริ่มวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 (เดือน 5 เหนือ ประมาณเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์) เริ่มกำฟ้าตั้งแต่รับประทานอาหารมื้อเย็น ปฏิบัติเช่นเดียวกับครั้งแรกและครั้งที่ 2 จนกระทั่งช่วงเช้าวันขึ้น 13 ค่ำ ทำบุญตักบาตรที่วัด และพ้นกำเมื่อรับประทานอาหารมื้อเช้าของวันขึ้น 13 ค่ำ หลังจากนี้ก็สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้
ต่อมาลดจำนวนวันที่ประกอบพิธีเหลือ 2 วัน คือ วันเริ่มขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3
เมื่อรับประทานอาหารเย็นแล้วก็เริ่มกำฟ้า จนกระทั่งรับประทานอาหารเย็นวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จึงออกกำ ช่วงเช้าของวันขึ้น 3 ค่ำ ไปทำบุญตักบาตรที่วัด ชาวบ้านหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 บางส่วนจะทำบุญที่วัดทุ่งโห้งใต้ ส่วนชาวบ้านหมู่ที่ 2 หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 บางส่วนจะทำบุญที่วัดทุ่งโห้งเหนือ เมื่อทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนาเสร็จ ก็พากันออกไปหากุ้ง หอย ปู ปลา แล้วทำอาหารกินร่วมกันบริเวณริมฝั่งแม่น้ำยม
ประเพณีกำฟ้าของชาวพวนทุ่งโฮ้งมีการปรับเปลี่ยนที่สำคัญ ปัจจุบันนับว่าเป็นงานท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมประจำจังหวัดแพร่ โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ได้ย้ายจากที่เคยประกอบพิธีที่ริมฝั่งแม่น้ำยม ที่ร่องทุ่มร่องบอนและท่าหนองกลาง มาจัดเป็นงานเทศกาลขึ้นครั้งแรกบริเวณสนามกีฬาเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง ในระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ต่อมาอีก 4 ปี วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้ร่วมกันวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอนุสาวรีย์เจ้าชมพู กษัตริย์เชียงขวางขึ้น ที่สนามกีฬาเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง รูปหล่ออนุสาวรีย์เจ้าชมพูได้ทำการหล่อที่โรงหล่อจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2549 จนกระทั้งวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2550 ได้ทำพิธีอัญเชิญอนุสารีย์เจ้าชมพูประดิษฐานบนแท่นที่ตั้ง และในวันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2550 แรม 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ ได้ทำพิธีเชิญดวงวิญญาณทหารและบริวารของเจ้าชมพูขึ้นหอผี (ศาล) ที่สร้างขึ้นข้างอนุสาวรีย์เจ้าชมพู
หลังจากมีการสร้างรูปหล่ออนุสาวรีย์เจ้าชมพู รูปแบบของงานจึงได้เพิ่มขั้นตอนพิธีกรรมบวงสรวงเจ้าชมพูช่วงเช้า จัดงาน 3 วัน 3 คืน ระหว่างขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 พวน การจัดงานมีเพิ่มขบวนแห่ของหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งหลังจากเดินขบวนเสร็จจะมีการประกวดฟ้อนแง้น เป็นการฟ้อนที่คนพวนนิยมฟ้อนมาตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นเอกลักษณ์ของคนพวน มีการแข่งขันกีฬา การจัดซุ้มประกวด สาธิตศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวพวนทุ่งโฮ้ง เช่น ซุ้มสาธิตทำนา ซุ้มประวัติชาวพวน เป็นต้น พร้อมกับเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่มาเป็นประธานเปิดงานพิธี
รชพรรณ ฆารพันธ์ และปณต สุสวรรณ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ พลวัตและการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์พวน. ศูนย์เรียนรู้ชาติพันธุ์ไทในล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พฤษภาคม 2562.
คำว่า “กำฟ้า” หมายถึงนับถือฟ้า คือนับถือเทวดาผู้เป็นใหญ่ แต่ “กำฟ้า” ในทางปฏิบัติได้แก่การหยุดพักไม่ทำการทำงานการกำฟ้าปีหนึ่งกำหนด 3 ครั้ง หรือ 3 วัน คือเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ 10 ค่ำ 15 ค่ำ แต่จะเริ่มกำตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินของวันขึ้น 2 ค่ำ9 ค่ำ 14 ค่ำ เพราะมีกำหนดกฏเกณฑ์เป็นคู่กับการกำอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “กำเกียง” แต่ในรอบ 1 ปี ชาวไทยพวนจะมีประเพณีถือกำอยู่ 2 วาระ คือ ในเดือน 3 และเดือน 9 ประเพณีถือกำในเดือนสาม เรียกว่า “ประเพณีกำฟ้า” และในเดือนเก้า เรียกว่า “กำยี่” และ “กำเจียง”
กำยี่กำเจียง เป็นประเพณีถือกำในช่วงเดือน 9 กำยี่จะทำในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น ต่อจากนั้นจะเข้าสู่กำเจียง ซึ่งจะสิ้นสุดการปฏิบัติเมื่อรับประทานข้าวเช้าเสร็จในวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 9 การถือเป็นปฏิบัติช่วงกำคือ งดใช้วัวควาย มีด ขวาน และของมีคมทุกประเภท กำยี่นั้นเป็นการถือปฏิบัติเพื่อให้ลูกหลาน ส่วนการถือกำเจียงเป็นการถือปฏิบัติเพื่อตนเอง
แต่ในหลายท้องถิ่นที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ลาวอพยพมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ภาคกลางตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จะเรียกพิธีทำบุญในเดือน 3 นี้ว่า “ประเพณีกำฟ้าหรือบุญข้าวหลาม” ในช่วงที่เพิ่งเก็บเกี่ยวข้าวได้ใหม่ๆในเดือนนี้ ชาวบ้านจะนำข้าวใหม่มาทำข้าวหลาม เพื่อทำบุญเลี้ยงพระพร้อมกับข้าวปลาอาหาร
ทุกบ้านจะต้องช่วยกันทำข้าวปุ้นหรือขนมจีนและน้ำยาหรือน้ำพริกเพื่อไปถวายพระสงฆ์และที่เหลือจะแจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง วันต่อมาจึงทำบุญด้วยข้าวจี่พร้อมอาหารแด่พระสงฆ์ต่อไป ภายหลังได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการทำบุญด้วยข้าวหลามแทน โดยการนำข้าวใหม่มาทำเป็นข้าวหลาม เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวช่วยกันเผาข้าวหลามและเกี้ยวพาราสีกันไปด้วย ในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันกำฟ้า ชาวบ้านจะหยุดงาน 1 วัน เมื่อทำบุญในช่วงเช้าแล้ว ตอนบ่ายก็จะมีการละเล่นร่วมกัน ในช่วง 7 วันต่อไป ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความชำนาญจะคอยฟังเสียงฝนฟ้าว่าจะมาทางทิศใด ห่างหรือถี่ขนาดไหน ก็จะทำนายว่าปีนั้น ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาลอย่างไร
เคล็ดในระหว่างวันกำฟ้า ชาวบ้านที่เป็นคนพวน มักจะเคารพเชื่อฟังคนแก่หรือคนที่น่าเคารพนับถือในหมู่บ้าน ยกให้ท่านเป็นคนนำในพิธี เล่ากันว่า สมัยก่อนๆ จริง ยังไม่มีผู้ใหญ่บ้านกำนัน ชาวบ้านไทยพวนจะคอยฟังกำหนดวันกำ(วันถือ) จริง ๆ จากอาญาวัด (สมภาร อธิการวัด) รองลงมาคือ คนแก่ในหมู่บ้าน เรียกว่า “กวานบ้าน” ท่านผู้นี้จะมีหน้าที่คอยรับฟัง เสียงฟ้าร้อง ถ้าได้ยินฟ้าร้อง จะรีบไปถามคนหูตึงในหมู่บ้าน (แต่ส่วนมากจะไปถามคนแก่ที่ตาหูไม่ดีนัก) ว่าได้เสียงฟ้าร้องหรือไม่ ถ้าได้ยิน ก็ให้ถามต่อว่า ได้ยินทางทิศไหน เป็นการถามถือเคล็ดฟังเสียงฟ้าร้อง
เมื่อมีคนตอบว่าได้ยินแล้ว กวานบ้านก็ออกป่าวประกาศให้ชาวบ้านทราบโดยทั่วกันว่า ขอให้งดทำกิจกรรมทุกอย่างจนกว่าดวงอาทิตย์จะตกดิน การถือเคล็ดในการฟังเสียงฟ้าร้องนี้ เป็นการสอนให้ลูกหลานสังเกตให้รู้เรื่องดิน ฟ้า อากาศไปในตัว กล่าวกันสืบมาว่า บรรพบุรุษไทยพวนโบราณสอนไว้ ดังนี้
1. เสียงฟ้าร้อง ดังมาจากทิศใต้ ท่านสอนว่า ชาวบ้านจะอดเกลือ
2. เสียงฟ้าร้อง ดังมาจากทิศเหนือ ท่านสอนว่า ชาวบ้านจะอดข้าว
3. เสียงฟ้าร้อง ดังมาจากทิศตะวันตก ท่านสอนว่า ชาวบ้านจะเอาจามาทำหอก หมายความว่า ปีนั้นบ้านเมืองจะเกิดศึกสงคราม จะมีศัตรูหมู่มารมาเบียดเบียน มีการรบราฆ่าฟันกัน จะเลือดตกยางออก เพราะบ้านเมืองขาดแคลนเหล็กต้องเอาจา (จอบ) มาทำอาวุธ เพื่อรบราฆ่าฟันกัน
4. เสียงฟ้าร้อง ดังมาจากทิศตะวันออก ท่านสอนว่า ชาวบ้านจะเอาหอกมาทำจา หมายความว่า ปีนั้นชาวบ้านจะอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ข้าวปลาน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ โรคภัยไข้เจ็บไม่มาเบียดเบียนผู้คนและสัตว์เลี้ยง
นอกจากจะถือเอาเคล็ดตามดังกล่าวมาแล้วนั้น บรรพบุรุษไทยพวนยังสอนต่อว่า ธรรมชาติของเดือน 3 นี้ จะช่วยชี้นำในเรื่องสภาพความเป็นไปในช่วงฤดูกาลของปีนั้นๆอีกด้วย คือ
1. ถ้ารุ่งเช้าวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ให้พยายามสังเกตดวงอาทิตย์ (ภาษาพวนเรียกว่า ดวงตาเง็น) ขณะกำลังโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าทิศตะวันออกว่า มีก้อนเมฆ(ขี้เฟื้อ) บดบังโดยทั่วไปหรือไม่ ถ้ามีมาก ทำนายว่า ฝนฟ้าจะดี ข้าวน้ำปูปลาจะอุดมสมบูรณ์ ไร่นาจะได้ผลผลิตมาก
2. ถ้าขี้เฟื้อบดบังดวงตาเง็นเพียงเล็กน้อย ทำนายว่า ปีนั้นฝนฟ้าจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำจะน้อย ต้องคอยทำเหมืองฝาย หรือทำนบ กันน้ำไว้ล่วงหน้า มิเช่นนั้นจะไม่มีน้ำทำไร่นา
3. ถ้าดวงตาเง็นปราศจากขี้เฟื้อ ทำนายว่าฝนฟ้าจะหลงฤดู ต้นปีน้ำน้อย ปลายปีน้ำมาก ระวังข้าวในนาต้นปีจะไม่ทันน้ำ กลับปลายปีน้ำจะท่วมใหญ่ นาจะเสีย ข้าวจะล่ม
4. ถ้าปีใด ดวงตาเง็นมีขี้เฟื้อลอยมาบดบังจนหนาทึบ ทำนายว่าปีนั้นน้ำช่วงต้นปีจะดีมาก แต่ปลายปีจะขาดแคลน ให้เร่งเก็บกักน้ำไว้เพื่อให้ข้าวทันน้ำ
ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ.(2544). โครงการวิจัยเรื่องประเพณีสิบสองเดือน : พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป. (2544). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร.