ชื่อเรียกอื่น | : |
---|---|
เดือนที่จัดงาน | : มกราคม,กุมภาพันธ์ |
เวลาทางจันทรคติ | : วันตรุษจีนของทุกปี |
สถานที่ | : ถ้ำพระขยางค์ |
ภาค / จังหวัด | : ภาคใต้ : ระนอง |
ประเภท | : ประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเพื่อสิริมงคล |
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง | : |
คำสำคัญ | : ถ้ำพระขยางค์,พ่อตาหลวงแก้ว,เมืองกระ(กระบุรี) |
ผู้เขียน | : สาวิตรี ตลับแป้น |
วันที่เผยแพร่ | : 28 เม.ย. 2560 |
วันที่อัพเดท | : 11 ต.ค. 2561 |
ถ้ำพระขยางค์อยู่ที่เขาแหลมเนียง อ.กระบุรี จ.ระนอง ทุกปีในวันตรุษจีน ได้จัดงานประเพณีขึ้นถ้ำพระขยางค์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 เป็นต้นมา ความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ได้มีความเชื่อมโยงกับตำนานเจ้าเมืองคนแรก ผู้ครองเมืองกระ(กระบุรี) นามว่าพระแก้วโกรพ ก่อนนี้นายแก้ว ธนบัตร เป็นนายบ้านชาวนครศรีธรรมราช ได้จับเต่ากระสีทองสวยงามมากมาตัวหนึ่ง แล้วได้นำไปมอบให้กับเจ้าเมืองชุมพร เพื่อถวายแก่กษัตริย์ช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา นายแก้วจึงมีความดีความชอบได้เลื่อนยศเป็นเจ้าเมือง
การจัดงานประเพณีขึ้นถ้ำพระขยางค์ ปีนี้ตรงกับวันที่ 27-29 มกราคม พ.ศ. 2560 งานประเพณีมี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ตำนานเจ้าเมืองกระ(พระแก้วโกรพ) สำหรับปีนี้มีความแตกต่างจากปีก่อนๆที่เคยทำมาคือ ไม่มีขบวนแห่มาจากทางเทศบาลตำบลน้ำจืดเหมือนทุกครั้ง โดยทางอบต.ลำเลียงเจ้าของพื้นที่ ได้จัดพิธีบวงสรวงใหญ่ขึ้นตรงอนุสาวรีย์พ่อตาหลวงแก้ว ครั้งนี้จึงเป็นการบวงสรวงที่นี่เป็นปีแรก องค์ประกอบต่อมาคือการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยภูมิทัศน์สวยงามของถ้ำพระขยางค์และเส้นทางธรรมชาติแบบป่าชายเลน และการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น คือการแสดงมโนราห์
หน่วยงานที่รับผิดชอบมีทั้งองค์การปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชนและส่วนราชการต่างๆในอำเภอกระบุรีและจังหวัดระนอง มีแบ่งงานกันทำ เช่น บอร์ดตำนานถ้ำพระขยางค์ที่จัดบนลานหน้าอนุสาวรีย์พ่อตาหลวงแก้ว(เป็นนามเรียกพระแก้วโกรพของคนรุ่นหลัง) จัดทำโดย อบจ.ระนอง
ตำนานถ้ำพระขยางค์ ได้มีการจัดทำเป็นหนังสือ เขียนเล่าโดยนายภักดี จันทวงศ์ ธนบัตร(นายขิน ธนบัตร) ผู้เป็นทายาท เรื่องราวเกิดขึ้นหลังจากพระแก้วโกรพได้ครองเมืองกระ พระแก้วโกรพมีภรรยาชื่อนางน้อย ทั้งคู่มีบุตรชาย 2 คนคือนายทองและนายเทพ นายทองถูกส่งไปเรียนที่นครศรีธรรมราช เพื่อว่าเรียนจบมาจะได้สืบทอดตำแหน่งเจ้าเมือง แต่ได้เกิดเรื่องเมื่อนายทองสำเร็จวิชาแล้วกลับบ้าน ได้มาพบกับนางจั่น ภรรยาน้อยของบิดา แล้วเกิดมารักใคร่ชอบพอเป็นชู้กัน ครั้นบิดาจับได้ นายทองจึงวางแผนปิตุฆาต พระแก้วโกรพทราบเรื่องก็โกรธมาก สั่งให้จับตัวใส่ขื่อคา เฆี่ยนวันละสามเวลาเมื่อครบเจ็ดวันให้นำไปฆ่าเสีย แต่เนื่องจากนายทองบุตรชายเรียนวิชาคงกระพันจึงฆ่าไม่ตาย ดาบฟันไม่เข้า บิดาจึงให้จับตัวไปไว้ในถ้ำบนเขาแหลมเนียง ด้วยการมัดไว้กับขาหยั่งทำด้วยไม้ 3 ท่อนปักโคนทแยง เพื่อให้อดอาหารตาย จึงเป็นที่มาของ “ถ้ำขาหยั่ง” ต่อมาจึงเพี้ยนเสียงเป็นขยางค์
ข้างฝ่ายบิดาพระแก้วโกรพ ในยามชราได้เรียนวิชาวิปัสสนากรรมฐาน จนเป็นที่เคารพรักของผู้คน จนผู้คนพากันเรียกว่า “พ่อตาหลวงแก้ว” วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของท่านตามความศรัทธาของชาวบ้าน คือผู้ปกปักคุ้มครองผู้คนที่สัญจรไปมาบริเวณเขาแหลมเนียงให้ปลอดภัยจากภัยภิบัติต่างๆ จึงได้ปรากฏเป็นศาลที่มีคนแวะเวียนมาสักการะบูชา บนบานศาลกล่าว
การจัดงานบวงสรวง กำหนดขึ้นในวันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2560 เวลา 18.00 น. จัดขึ้นโดยองค์การบริหารส่วนตำบลลำเลียง จากการสัมภาษณ์นายสมศักดิ์ อุ่นหนู รองนายกฯรักษาการแทนนายกอบต.ลำเลียง และนายคะเณ ทองพรุสยาม ปลัดอบต.ลำเลียง ทำให้ทราบว่า การจัดงานประเพณีช่วงแรกๆมีผู้สนับสนุนคนสำคัญคือ นายอำเภอชื่น ทองศิริและเจ้าของโรงเลื่อยจักรอรภัณฑ์ คือนายบุญนำ สุวรรณรัตน์ ยุคสมัยนั้นมีกลุ่มชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานทำการค้า ดังนั้นน่าจะเป็นเหตุที่เลือกวันตรุษจีนของทุกปีเป็นวันจัดงาน
งานบวงสรวงทำตามแบบวิธีพราหมณ์ พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีอยู่ในสายจังหวัดพัทลุง-นครศรีธรรมราช ซึ่งมีความชำนาญในการประกอบพิธีพราหมณ์หลวง เครื่องบวงสรวงประกอบด้วยบายศรีปากชาม 3 คู่ หัวหมู 3 หัว เป็ดต้ม ไก่ต้ม ปูต้ม กุ้งต้ม ปลาช่อนนึ่งไม่ขอดเกล็ด อ้อย เผือกต้ม มันต้ม กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อน และผลไม้อื่นๆ ขนมของหวาน สุรา พวงมาลัยดาวเรือง แจกันดอกไม้สด ธูป เทียนน้ำมนต์ เทียนชัย สายสิญจน์
ส่วนของกิจกรรมสำคัญในงานที่อบต.ลำเลียงเป็นผู้ดูแลคือ กิจกรรมขึ้นถ้ำพระขยางค์ ในวันจัดการทางอบต.ได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการขึ้นถ้ำพระขยางค์ ด้วยการติดไฟส่องสว่างตามทางเดินถ้ำ และจัดเจ้าหน้าที่ไว้เพื่อคอยอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ยังให้ลงทะเบียนรับน้ำและของที่ระลึก ขากลับลงมาจะได้รับใบประกาศว่าได้ขึ้นถ้ำไปจนถึงยอดเขาแล้ว ลักษณะของถ้ำพระขยางค์ ปากถ้ำมีขนาดใหญ่ จากนั้นจะมีทางขึ้นไต่ขึ้นสูงไปเรื่อยๆ บริเวณพื้นบางช่วงชื้นแฉะจากน้ำซึมผ่านไหลมาตามหินงอกหินย้อย บางช่วงทำบันไดแบบมีเครื่องกั้น ที่ผนังถ้ำบางตอนมองเห็นฝูงค้างคาวเกาะอยู่ มีเสียงและกลิ่นขี้ค้างคาว ช่วงไต่ระดับสูงขึ้นไป จะมีโพรงขนาดใหญ่มีแสงส่องสว่างเข้ามาแลเห็นต้นไม้ที่เป็นป่าของเขาแหลมเนียงที่เห็นไกลๆเวลามองขึ้นไปจากข้างล่าง บางตอนที่มองเห็นป่า สามารถจะเดินออกไปเลือกชมวิวมุมสูงได้ แต่ควรดูป้ายคำเตือนให้ดี เพราะบางช่วงมีความชันเกินไปจึงห้ามเข้า
ทางเดินธรรมชาติอีกเส้นทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทางเดินรอบเขาถ้ำพระขยางค์ ระยะทางประมาณหนึ่งกิโลเมตร ทางเดินก่อสร้างด้วยคอนกรีตมีที่กั้นตลอดเส้นทาง สามารถเดินหรือปั่นจักรยานชมป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ บางช่วงตัดผ่านป่าจากซึ่งเป็นป่าชายเลน บริเวณนี้ถ้าไม่มีคนมากจะมีฝูงลิงออกมาให้เห็นเพราะเป็นแหล่งที่อยู่ของเขา
ลำคลองที่เรามองเห็นเรียกว่า คลองลำเลียง เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำกระบุรี ต้นน้ำมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ปลายน้ำออกสู่ทะเลอันดามัน การคมนาคมทางน้ำจึงเป็นวิถีชีวิตของผู้คนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันยังคงเห็นเรือหลายลำจอดในคลองลำเลียง ในช่วงเวลาจัดงานแม้จะมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามามากมาย มีร้านค้าเข้ามาจับจองพื้นที่ขายสองฟากถนนที่ไปยังถ้ำ แต่เรายังจะได้ยินเสียงลมพัดผ่านป่าจากดังกังวาน รู้สึกถึงความเคลื่อนไหว บริเวณใกล้สะพานข้ามลำคลองมีเรือบรรทุกยอดต้นจากเต็มลำเข้ามาเทียบท่า บนฝั่งมีชาวบ้านหลายคนที่มือเป็นระวิงกับการตัดใบอ่อนจากออกจากยอด
คุณป้ามณฑา สุดกางและลุงสอน จำปูชะนะ เป็นชาวบ้านหมู่ 5 เป็นคนตัดใบจากเป็นอาชีพมานานแล้ว ทั้งสองคนพูดคุยอย่างอารมณ์ดีขณะที่มือก็ตัดใบอ่อนจากยอดจากไปด้วย รายได้จะคิดตามปริมาณยอดจากที่ตัดเอาใบอ่อนออกมาในแต่ละวัน ต้นจากมีคุณประโยชน์มากมาย ปลายช่อดอกให้น้ำตาลจาก นำไปหมักจะได้น้ำส้มจาก ผลรับประทานได้ ใบแก่ของจากเย็บเป็นตับจากนำไปมุงหลังคา นำมาห่อขนมเป็นขนมจาก ใบอ่อนเพิ่งแตกยอดทำมวนยาสูบ ปัจจุบันยังมีความต้องการมาก ใครมีที่ดินที่มีต้นจาก จะมีคนไปเหมาสวนตัดยอดแล้วบรรทุกใส่เรือล่องมา ครั้นถามถึงวิถีชีวิตที่ยังคงอยู่กับป่าชายเลน คุณป้าและคุณลุงนึกถึงปู ปลา ที่หาได้จากป่าชายเลน อาหารธรรมชาติที่กินปลอดภัยและไม่ต้องซื้อ
ได้คุยกันไป พอเอ่ยถึงการจัดงานประเพณีขึ้นถ้ำพระขยางค์ คุณป้ามณฑาได้เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศงานปีก่อนๆว่า มีคนมาเที่ยวงานเยอะ ร้านค้าก็มากแต่จะเป็นคนจากที่อื่นมาขายสินค้า สินค้าพื้นเมืองจะมีน้อย มีคนพม่าเข้ามาเที่ยวงานด้วยเป็นจำนวนมาก คนพม่าชอบทำบุญ รู้สึกแปลกใจบ้างที่ปีนี้ไม่มีขบวนแห่และการประกวดธิดาถ้ำพระขยางค์เหมือนทุกปี สิ่งที่ป้ามณฑาให้ความสนใจมากในงานนี้ที่จะต้องไปดูคือ การแสดงมโนราห์ โดยปีนี้คณะที่มาเล่นคือ คณะแม่แจ่มศรี บุญฤทธิ์
เวทีการแสดงมโนราห์คณะแม่แจ่มศรี ตั้งเป็นเวทีชั่วคราวอยู่บริเวณถ้ำพระ ถัดไปจากปากทางเข้าถ้ำพระขยางค์ ลักษณะเป็นการแสดงแก้บน ถ้าเป็นการแสดงเต็มรูปแบบจะต้องทำเป็นเวทีมาตรฐาน พระสุวิทย์ พระสงฆ์ของสำนักสงฆ์สุวรรณวัฒนาราม ช่วงวันงานได้มาดูแลส่วนนี้ ได้เล่าถึงความเชื่อของชาวบ้านว่า เคยมีปีที่ไม่มีมโนราห์ หนังตะลุง แล้วปีนั้นได้เกิดเหตุสลดใจ มีอุบัติเหตุเครื่องปั่นไฟช็อตคนตายหลายคน จึงเหมือนเป็นการตอกย้ำว่าไม่มีไม่ได้ ในช่วงการแสดงมโนราห์คณะแม่แจ่มศรี อยู่ในช่วงบ่ายของวันที่มีงานบวงสรวง แม่แจ่มศรีนักแสดงหลัก แม้จะอยู่ในวัยชรามาก แต่ก็ยังสามารถเรียกคนมาเข้าชมได้หนาตา
หลังการแสดงมโนราห์จบ ได้มีพิธีกรรมโบราณคือ พิธีกรรมการเหยียบเสน โดยมีแม่ลูกได้มาขอให้โนราแม่แจ่มศรีทำพิธีให้ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มโนราห์หรือเรียกว่าโนรา จะมีความเป็นร่างทรงอยู่ด้วย เสนหมายถึงเนื้องอกเป็นแผ่นที่นูนขึ้นมาจากผิวหนังตามส่วนต่างๆของร่างกาย ไม่เจ็บไม่อันตรายแต่จะดูน่าเกลียด กรณีเด็กผู้ชายคนนี้ เขามีเสนสีแดงที่หน้าอก เรียกว่า เสนทอง (ถ้ามีสีดำจะเรียกว่า เสนดำ) ตามความเชื่อของโนรา เสนเกิดจากการกระทำของผีโอกะแซง หรือผีเจ้าเสน หรือการทำเครื่องหมายของครูหมอโนราหรือตายายโนรา รักษาให้หายได้โดยการเหยียบของโนรา เครื่องประกอบพิธีถ้ามีครบถ้วนได้แก่ ขันน้ำ หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ มีดโกน หินลับมีด เงินเหรียญ เครื่องทอง เครื่องเงิน หญ้าคา หญ้าเข็ดหมอน รวงข้าวและเงิน 32 บาท โนราร่างทรงผู้ประกอบพิธีจะเริ่มด้วยการจุดธูปเทียนชุมนุมเทวดา รำท่าเฆี่ยนพรายหรือย่างสามขุม โนราในร่างทรงรำไปพร้อมกับถือกริช พระขรรค์ เสร็จแล้วเอาหัวแม่เท้าไปแตะตรงเสน เหยียบเบาๆมีการบริกรรมคาถา และเอากริช พระขรรค์ ไปแตะที่เสนด้วย ทำเช่นนี้ 3 ครั้งแล้วนำของในขันหรือถาดไปแตะตัวผู้เป็นเสนจนครบเป็นเสร็จพิธี
ในงานมีอีกการแสดงที่ได้รับความสนใจและเกี่ยวข้องกับตำนานพระขยางค์คือ การแสดงแสงสีเสียงตำนานถ้ำพระขยางค์ ชุดการแสดงจะเล่าย้อนอดีตตั้งแต่ประวัติความรุ่งเรืองของเมืองระนอง มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีของการเป็นเมืองเก่า สมัยโบราณมีชาวต่างชาตินำสินค้าลงเรือมาค้าขายกันคึกคัก จนกระทั่งมาถึงตำนานถ้ำพระขยางค์ที่น่าเศร้าใจ
งานประเพณีขึ้นถ้ำพระขยางค์ ถ้าวัดจากจำนวนผู้มาร่วมงาน ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะมีผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลมา ถึงอย่างนั้นทางอบต.ลำเลียงและหน่วยงานอื่นๆในจังหวัดระนองก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ได้มีการหารูปแบบการจัดงานให้น่าสนใจ มีการไปศึกษาดูงานที่อื่น ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าปีนี้ไม่มีกิจกรรมการล่องเรือตามลำคลอง การประกวดขวัญใจถ้ำพระขยางค์ ด้านการดูแลสถานที่ ได้ทำให้งานปลอดจากแอลกอฮอล์ และมีเป้าหมายสำหรับปีต่อไปที่จะขอความร่วมมือร้านค้าไม่ให้ใช้กล่องโฟม
---------------------------------------------------------------
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 26-28 เดือนมกราคม พ.ศ.2560
---------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
บรรดาศักดิ์ พิทักษ์ศิลป์. โนราโรงครูตอนพิธีกรรมเหยียบเสน. (ออนไลน์)แหล่งที่มา http://krunora.blogspot.com/2013/05/blog_post_23.html?m=1 (18 มีนาคม 2560).
สำนักงานจังหวัดระนอง.ตำนานถ้ำพระขยาง.(ออนไลน์)แหล่งที่มา http://ranongcities.com/index.php?cmd=political&cate=0&id=17 (19 มีนาคม 2556).
คะเณ ทองพรุสยาม.(26 มกราคม 2560). สัมภาษณ์. ปลัดอบต.ลำเลียง องค์การบริหารส่วนตำบลลำเลียง ต.ลำเลียง อ.กระบุรี จ.ระนอง.
มณฑา สุดกาง. (27 มกราคม 2560). สัมภาษณ์.ชาวบ้าน ต.ลำเลียง อ.กระบุรี จ.ระนอง.
สมศักดิ์ อุ่นหนู. (26 มกราคม 2560). สัมภาษณ์. รองนายกฯรักษาการแทนนายกอบต.ลำเลียง องค์การบริหารส่วนตำบลลำเลียง ต.ลำเลียง อ.กระบุรี จ.ระนอง.
สอน จำปูชะนะ. (27 มกราคม 2560). สัมภาษณ์.ชาวบ้าน ต.ลำเลียง อ.กระบุรี จ.ระนอง.
สุวิทย์. (27 มกราคม 2560). สัมภาษณ์.พระสงฆ์ ต.ลำเลียง อ.กระบุรี จ.ระนอง.